โตเกียว 20 มี.ค. – กนอ.จับมือบีซีพีจี ศึกษาความต้องการใช้ไฟฟ้าโรงงานอุตสาหกรรมในสมาร์ทพาร์ค เตรียมเดินหน้าผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน คาด 3 เดือนรู้ผล
นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า การพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทพาร์ค จ.ระยอง ซึ่งเป็นโครงการสำคัญอยู่ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี) นั้น ตามแผนจะมีการพัฒนาด้านระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ(สมาร์ท กริด) ที่โรงงานผู้ผลิตจะมีการผลิตไฟฟ้าใช้เองและเมื่อเหลือใช้จะขายให้โรงงานใกล้เคียง ขณะเดียวกันจะมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ (โซลาร์) บนหลังคาโรงงาน โซลาร์แบบทุ่นลอยน้ำ ซึ่งล่าสุด กนอ.ร่วมกับบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีความพร้อมมากที่สุดในการศึกษาทำฐานข้อมูลกลาง เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลปริมาณใช้ไฟฟ้าแต่ละช่วงรองรับการใช้ไฟฟ้าของโรงงานอุตสาหกรรม โดยผลการศึกษาจะเกิดความชัดเจนภายใน 3 เดือน จากนั้นจะพัฒนาและขยายผลการศึกษา เพื่อนำไปสู่แนวทางการปฏิบัติและการลงทุนใช้พลังงานจากนวัตกรรมพลังงานอัจฉริยะ ซึ่งรูปแบบการลงทุนอาจจะลงทุนในรูปแบบเอกชนร่วมลงทุนกับภาครัฐ (พีพีพี) หรือเป็นการเช่าพื้นที่ปกตินั้นต้องรอผลการศึกษาดังกล่าวก่อน
ขณะที่มูลค่าการลงทุนขึ้นอยู่กับผลการศึกษา ซึ่งการติดตั้งพลังไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ เบื้องต้นพบว่าในพื้นที่ 10 ไร่ สามารถติดตั้งโซล่าได้ 1 เมกะวัตต์ เบื้องต้นคาดว่าในพื้นที่สมาร์ทพาร์คสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 60-100 เมะวัตต์ โดยจะใช้เงินลงทุนประมาณ 240 – 400 ล้านบาท ซึ่งต้องรอผลการศึกษาที่จะเสร็จ
นายวีรพงศ์ กล่าวว่า บีซีพีจีมีความร่วมมือกับกระทรวงพลังงานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อยู่แล้วในการพัฒนารูปแบบการดำเนินงานพลังงานทดแทน จึงไม่มีปัญหาในการประสานงานหรือการลงทุนแต่อย่างใด รวมทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ดังกล่าวจะผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ในนิคมฯ เท่านั้น ทำให้ลดภาระให้กับ กฟผ.และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ที่จะต้องจ่ายกระแสไฟฟ้ามายังกับนิคมสมาร์ทพาร์ค หากนิคมสมาร์ทพาร์คก่อสร้างเสร็จจะเป็นสมาร์ทกริดแห่งแรกในประเทศส่วนของภาคอุตสาหกรรม
สำหรับการพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทพาร์ค บนพื้นที่ 1,500.97 ไร่ มีจัดสรรงบประมาณการลงทุน 2,097 ล้านบาท เพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคตตามเป้าหมายของรัฐบาล อาทิ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และอุตสาหกรรมที่มีการใช้พลังงานสะอาดในกระบวนการผลิตและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สำหรับปัจจุบันโครงการฯ อยู่ในขั้นตอนการศึกษาความเป็นไปได้ และออกแบบโครงสร้างพื้นฐานเบื้องต้น พร้อมทั้งการจัดทำร่างรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการฯ (อีไอเอ) คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จภายในปี 2563.- สำนักข่าวไทย