กรุงเทพฯ 4 ก.พ. – กนอ.เตรียมผนึกภาคเอกชน ตั้ง “นิคมฯ ฟู๊ด วัลเลย์ – นิคมฯ ซีพี” คาดลงทุน 9,800 ล้านบาท หวังพัฒนาเป็นเมืองนวัตกรรมอาหารและรองรับการลงทุนในพื้นที่อีอีซี
นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการ กนอ.มีมติเห็นชอบการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมลักษณะร่วมดำเนินงาน ล่าสุดเตรียมจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม 2 นิคมฯ ได้แก่ โครงการนิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์ จังหวัดอ่างทอง บนเนื้อที่ประมาณ 1,398 ไร่ ซึ่งจะร่วมดำเนินงานกับบริษัท ปาร์ค อินดัสตรี จำกัด โดยนิคมฯ ดังกล่าวจะถูกพัฒนาให้เป็นเมืองนวัตกรรมอาหารอนาคตที่ครบวงจร ภายใต้แนวคิดอุตสาหกรรมเชิงนิเวศผสมผสานกับเทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 ที่มีนวัตกรรมการผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ เน้นการลดต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอาหารที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัยได้มาตรฐานระดับสากล
นอกจากนี้ ยังจะมีการสร้างเครือข่ายธุรกิจรูปแบบคลัสเตอร์กับเศรษฐกิจชุมชน อาทิ การแปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป นวัตกรรมทางด้านอาหาร โดยอุตสาหกรรมเป้าหมายภายในโครงการจัดตั้ง ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ และธุรกิจด้านบรรจุภัณฑ์ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 4,200 ล้านบาท ส่วนการพัฒนาโครงการคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี และขายพื้นที่หมดภายในระยะเวลา 5 ปี ซึ่งเชื่อว่าโครงการนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อจังหวัดอ่างทองและจังหวัดโดยรอบ พร้อมทั้งคาดว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าเงินลงทุนไม่น้อยกว่า 40,000 ล้านบาท และก่อให้เกิดการจ้างงานไม่น้อยกว่า 6,300 คน
ส่วนอีกหนึ่งโครงการจะร่วมกับ บริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด (มหาชน) จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม ซี.พี. บนเนื้อที่ 3,068 ไร่ ในตำบลมาบข่า ตำบลมาบข่าพัฒนา อำเภอนิคมพัฒนา และตำบลหนองละลอก อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ด้วยงบประมาณลงทุนทั้งสิ้น 5,628.50 ล้านบาท โดยโครงการนี้มุ่งเน้นส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ได้แก่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรและผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร รวมทั้งอุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภค เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมหลักข้างต้น คาดว่าจะขายหรือให้เช่าพื้นที่เพื่อประกอบอุตสาหกรรมในกลุ่มดังกล่าวได้หมดภายใน 6 ปี .-สำนักข่าวไทย