กรุงเทพฯ 31 ม.ค. – กนอ.ทุ่ม 2,000 ล้านบาท ตั้งสมาร์ทปาร์คบนพื้นที่มาบตาพุด ดันสู่นิคมฯ อัจฉริยะที่สุดแห่งอาเซียน คาดเปิดให้บริการปี 64
นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ตามที่ กนอ.มีแผนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์คบนพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง โดยมีการออกแบบพื้นที่โครงการและจัดสรรสัดส่วนการใช้ประโยชน์ที่ดินบนพื้นที่กว่า 1,500 ไร่ ออกเป็น 4 ส่วนหลัก ประกอบด้วย พื้นที่อุตสาหกรรม 723.78 ไร่ พื้นที่พาณิชยกรรม 147.18 ไร่ พื้นที่ระบบสาธารณูปโภค 393.50 ไร่ และพื้นที่สีเขียวและแนวกันชน 236.51 ไร่ ทั้งยังแบ่งพื้นที่ลักษณะเป็นกลุ่มในรูปแบบคลัสเตอร์ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและความต่อเนื่องในการเชื่อมโยงธุรกิจและอุตสาหกรรมร่วมกัน โดยแนวคิดการวางผังแม่บทโครงการ ได้พิจารณาจากข้อจำกัดทางด้านสิ่งแวดล้อม กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย การให้บริการทางพาณิชย์ต่อชุมชน และการให้บริการด้านสาธารณูปโภคแก่โรงงานอุตสาหกรรมที่จะเข้ามาตั้งพื้นที่ในโครงการ
นายวีรพงศ์ กล่าวต่อว่า เพื่อให้นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์คเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกและแห่งเดียวของอาเซียนที่ขับเคลื่อนทุกขั้นตอนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีอัจฉริยะ พร้อมรองรับโรงงานอุตสาหกรรมกลุ่มเทคโนโลยีและระบบดิจิทัลที่ชาญฉลาด จึงขับเคลื่อนนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์คด้วยยุทธศาสตร์ 9 Smart ได้แก่ ด้านสถานที่ตั้ง (Smart Location) จะมีพื้นที่ติดกับท่าเรือน้ำลึกมาบตาพุด สนามบินอู่ตะเภา และรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพ – ระยอง มีสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างครบครัน มีศูนย์กลางทางพาณิชย์ที่ทัยสมัย และเป็นพื้นที่ที่ปราศจากมลพิษ ด้านธุรกิจอัจฉริยะและอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Smart High technology industrial New S-curve) รวบรวมอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงไว้ที่เดียวกัน ด้านสิ่งก่อสร้างประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Smart Energy building) ด้านระบบความปลอดภัย (Smart Security) โดยนำเอาเทคโนโลยีรักษาความปลอดภัยขั้นสูงมาใช้ อาทิ ระบบสแกนใบหน้าและป้ายทะเบียนของรถทุกคันที่เข้าออกภายในนิคม
ด้านไลฟ์สไตล์ที่สมาร์ททุกรูปแบบ (Smart Social Life) การจัดให้มีศูนย์ประชุมและพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดของผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่ที่ทันสมัย เพื่อรองรับการเติบโตของภาคธุรกิจ ด้านสัญจรและคมนาคม (Smart Transportation) ออกแบบระบบการสัญจรสอดคล้องกับแนวคิดเรื่องความอัจฉริยะในด้านพลังงานและการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การเชื่อมโยงทุกสิ่งสู่ระบบอินเทอร์เน็ต (Smart I.o.T) ด้านสาธารณูปโภค (Smart infrastructure) และเมืองสีเขียว (Smart environment)
สำหรับการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์คจะใช้งบก่อสร้างประมาณ 2,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นนิคมฯ ต้นแบบที่มีระบบสาธารณูปโภคเพียบพร้อม ลดการใช้รถยนต์ รวมทั้งอาคารต่าง ๆ จะต้องได้มาตรฐานระดับสากล โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบ การทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ซึ่ง กนอ.คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการภายในปี 2564 อย่างไรก็ตาม หากโครงการดังกล่าวดำเนินการแล้วเสร็จนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์คจะเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกและแห่งเดียวของอาเซียนและประเทศไทยที่ขับเคลื่อนทุกขั้นตอนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีอัจฉริยะ .-สำนักข่าวไทย