โตเกียว 17 มี.ค. – กนอ.นำ “เจแปนโมเดล” เร่งเดินเครื่องพัฒนานิคมสมาร์ทปาร์ค ดึงระบบประมูล – ความปลอดภัย รับเทรนด์ดิจิทัล
นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ตามที่ กนอ.ได้มีนโยบายในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม Smart Park ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง นั้น ล่าสุด กนอ.ได้นำคณะผู้ดำเนินงานด้านการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเดินทางมายังประเทศญี่ปุ่นเพื่อมาศึกษาเทคโนโลยี การคิดค้นนวัตกรรม รูปแบบในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ทันสมัย รวมถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อนำไปปรับใช้กับการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมดังกล่าวรวมถึงนิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ ในพื้นที่ EEC ที่กำลังเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของประเทศและภูมิภาค
สำหรับการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม Smart Park ซึ่งเป็นพื้นที่รองรับอุตสาหกรรมใหม่ตามเป้าหมายของรัฐบาล เช่น อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมอากาศยาน และจะขับเคลื่อนด้วยยุทธศาสตร์ 9 Smart นั้น กนอ.ได้เริ่มศึกษาเทคโนโลยีและแนวทางที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ Smart Security (ความปลอดภัยสาธารณะและการคมนาคมขนส่ง) จาก NEC Corporation ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้การยอมรับจากหลายๆอุตสาหกรรมทั่วโลกทั้งในเรื่องของการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาธุรกิจ ทั้งในด้านเครือข่ายระบบโทรศัพท์และโครงข่ายการติดต่อสื่อสาร ระบบปฏิบัติการไอที ระบบการรักษาความปลอดภัย รวมถึงด้านระบบโลจิสติกส์
นอกจากนี้ NEC ยังมีนวัตกรรมที่ช่วยสร้างเมืองที่ชาญฉลาดทั่วโลก (Smart City) โดยเฉพาะเทคโนโลยีการรู้จดใบหน้า NeoFace ที่มีความถูกต้องในการตรวจสอบสูงสุดของโลกมีฟังก์ชั่นในการแจ้งเตือนแบบเรียลไทม์ เมื่อระบบสามารถตรวจจับได้ว่าใบหน้าของคนที่กำลังเข้ามาในพื้นที่ของกล้อง ตรงกับใบหน้าของคนในฐานข้อมูลลิสต์ของคนที่ควรเฝ้าระวังหรือที่อยู่ในความสนใจ ซึ่งจะช่วยให้ระบบการเฝ้าระวังอาชญากรรม มีความถูกต้องและรวดเร็ว และเมื่อรวมกับความสามารถในการทำงานร่วมกับกล้องแบบพกพาได้ยิ่งทำให้การตอบสนองสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงเป็นไปอย่างทันท่วงทีอีกด้วย
สำหรับ ความคืบหน้าการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม Smart Park ซึ่งตั้งอยู่บริเวณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง บนพื้นที่ประมาณ 1,466 ไร่ วงเงินลงทุนด้านสาธารณูปโภค 2,000 ล้านบาท คาดจะสามารถเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2562 – 2563 และจะทยอยเปิดให้บริการได้ภายในปี 2564 โดยนิคมอุตสาหกรรม Smart Park จะรองรับโรงงานอุตสาหกรรมทางเทคโนโลยีสะอาด และมีระบบสาธารณูปโภคบริการที่ทันสมัย เช่น ไฟฟ้า ก็จะนำสายไฟเดินลงดิน มีศูนย์กลางพาณิชย์ของชุมชน มีศูนย์ประชุมขนาดใหญ่ไว้รองรับการเจริญเติบโตของการให้บริการภาคธุรกิจภายในพื้นที่ ขณะเดียวกันจะมุ่งเน้นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความเชื่อมโยง เหมาะสมกับพื้นที่และชุมชน ได้แก่ 1. อุตสาหกรรมหุ่นยนต์(Robotics) 2. อุตสาหกรรมการบินอวกาศและโลจิสตอกส์(AerospaceandLogistics) ซึ่งได้มีการพูดคุย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยีแห่ง ประเทศไทย(วว.) ในการมาศึกษาทำงานวิจัยในพื้นที่ต่อไป 3. อุตสาหกรรมดิจิทัล(Digital) และ 4. อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร(MedicalHub). – สำนักข่าวไทย