กรมสุขภาพจิต 13 ก.พ.- กรมสุขภาพจิต สำรวจพบวัยรุ่น กทม.และปริมณฑล ครึ่งหนึ่ง ผูกติดความสุขตัวเองไว้กับแฟน แนะ ครอบครัวและครูช่วยเสริมทักษะชีวิต ใส่ใจ ป้องกันพฤติกรรมเสี่ยง
น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า กรมสุขภาพจิต โดยสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ได้สำรวจความสุขและทัศนคติวัยรุ่นต่อวันวาเลนไทน์ ปี 2561 ในช่วงเดือน ม.ค.–ก.พ.ที่ผ่านมา จากกลุ่มตัวอย่างนักเรียน อายุ 11-19 ปี จำนวน 2,100 คน โรงเรียนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยความคิดเห็นเกี่ยวกับวันวาเลนไทน์ พบว่าร้อยละ 39.03 มองว่าเป็นวันแห่งความรักที่คนรักแสดงความรักให้กัน ขณะที่ร้อยละ 32.89 ไม่ได้ให้ความสนใจ และร้อยละ 11.78 มองว่าเป็นวันที่ผู้ใหญ่ชอบมาเตือนเรื่องความรักจนเกินเหตุ โดย วัยรุ่นร้อยละ 41.50 เคยมีแฟนแล้ว ในจำนวนนี้ร้อยละ 95.74 เคยมีแฟนมาแล้วอย่างน้อย 1-5 คน มากที่สุด 20 คน อายุน้อยที่สุดที่มีแฟนครั้งแรก คือ 8 ปี มากที่สุด 17 ปี
สำหรับความคิดเห็นในส่วนของเหตุผลที่อยากมีแฟน ครึ่งหนึ่งผูกความสุขของตนเองไว้กับการมีแฟน มองว่า มีแฟนแล้วจะไม่เหงา รู้สึกเติมเต็ม และเมื่อไม่สบายใจร้อยละ 51.30 จะใช้วิธีอยู่เงียบๆ คนเดียว พยายามแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง รองลงมาร้อยละ 43.45 เลือกระบายความรู้สึก โดยเฉพาะกับเพื่อนมากกว่าพ่อแม่ ซึ่งมีความน่าเป็นห่วงว่าวิธีคิดและมุมมองการใช้ชีวิตวัยรุ่นที่นำความสุขและคุณค่าของตนเองไปผูกติดกับผู้อื่น เมื่อเกิดปัญหาความรักจะส่งผลต่อคุณภาพการเรียนรู้ ปัญหาสุขภาพจิต ซึมเศร้า หรือปัญหาเรื่องท้องไม่พร้อมตามมาได้
อย่างไรก็ตาม ยังเห็นสัญญาณที่ดีว่าการใช้เวลาอยู่กับครอบครัวเป็นกิจกรรมแรกที่วัยรุ่นเลือกทำให้ตนเองมีความสุข ตลอดจนรู้สึกเป็นสุขเมื่อได้ช่วยเหลือผู้อื่นและอยู่อาศัยในชุมชนที่ปลอดภัย ซึ่งผู้ใหญ่รอบตัววัยรุ่น ทั้งพ่อแม่ และครูสามารถร่วมมือกันป้องกันพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ไม่ว่าการใช้สารเสพติด ตั้งครรภ์ไม่พร้อม การทำร้ายตนเอง หรือการฆ่าตัวตายในวัยรุ่นไทยได้ด้วยการใส่ใจให้เวลากับวัยรุ่น และให้ความสำคัญกับการส่งเสริมทักษะชีวิต และการเห็นคุณค่าของตนเองให้กับพวกเขามากยิ่งขึ้น อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว.-สำนักข่าวไทย