กรุงเทพฯ 18 ธ.ค. – กนอ.พลิกโฉมระบบการอนุมัตินำเข้า-ส่งออก เขตประกอบการเสรีนิคมฯ 11 แห่ง พร้อมดันระบบสมาร์ทคิวอาร์โค้ด
นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ปัจจุบันการลงทุนในเขตประกอบการเสรีทั้ง 11 แห่ง นอกจากนักลงทุนและผู้ประกอบการจะได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ด้านภาษีอากรแล้ว กนอ.ได้ให้ความสำคัญกับการให้บริการและการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพเพื่อยกระดับนิคมอุตสาหกรรมให้เป็นฐานการผลิตที่มีความสมบูรณ์แบบเหมาะสมกับสถานการณ์และทันกับการแข่งขันในตลาดโลกยิ่งขึ้น โดยได้นำนวัตกรรม เทคโนโลยี และระบบอัจฉริยะมาให้บริการด้านอนุมัติอนุญาตนำส่งสินค้าเข้า-ออกในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อเอื้อให้มีความรวดเร็ว ฉับไว พร้อมสร้างประสิทธิภาพในด้านผลลัพธ์และคุ้มค่ากับการลงทุนอย่างสูงสุด
นายวีรพงศ์ กล่าวต่อว่า ล่าสุด กนอ.ได้พัฒนาระบบบริการคิวอาร์โค้ด การอนุญาตอนุมัติการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อการผลิตและการส่งออกสินค้าโดยไม่ต้องมีลายเซ็นของ กนอ. โดยผู้ประกอบการส่งคำขอผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ e-pp โดยเจ้าหน้าที่ กนอ.พิจารณาอนุญาตในระบบ พร้อมทั้งข้อมูลการอนุญาตของผู้ประกอบการก็ยังคงถูกเชื่อมโยงไปยังกรมศุลกากรเช่นเดิม แต่ข้อมูลการอนุมัติทั้งหมดจะถูกเชื่อมโยงไปยังระบบของผู้ประกอบการและสามารถพิมพ์หนังสืออนุญาตแบบมีคิวอาร์โค้ด พร้อมนำหนังสืออนุญาตที่ได้รับไปทำพิธีการต่อไปที่กรมศุลกากรได้เอง ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานจะใช้เพียงแค่สมาร์ทโฟนสแกนคิวอาร์โค้ดบนหนังสืออนุญาตที่ผู้ประกอบการแสดง พร้อมตรวจเช็คข้อมูลความถูกต้องในระบบฐานข้อมูลว่าข้อมูลตรงกันหรือไม่ ซึ่งระบบใหม่นี้ช่วยลดขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อน เพิ่มความรวดเร็วในการขนส่งสินค้า ช่วยเชื่อมโยงข้อมูลที่จำเป็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกรมศุลกากร
นอกจากนี้ ปี 2561 กนอ.ยังมีแนวคิดในการยกระดับระบบการอนุมัติอนุญาตให้เป็นแบบไร้กระดาษ แต่ยังคงไว้ซึ่งการยื่นระบบ การพิจารณา และการเชื่อมโยงฐานข้อมูลที่เป็นแบบเดิม เพียงแค่ผู้ประกอบการจดจำเลขที่หนังสืออนุญาตแล้วไปดำเนินพิธีการนำเข้า-ส่งออกสินค้าหรือวัตถุดิบถัดไปที่กรมศุลกากร โดยเจ้าหน้าที่จากกรมศุลฯ จะตรวจสอบเลขที่หนังสืออนุญาตในระบบฯ ที่ผู้ประกอบการแสดง อย่างไรก็ตาม กนอ.คาดว่าบริการรูปแบบใหม่นี้จะช่วยลดขั้นตอน เพิ่มความรวดเร็วให้แก่ผู้ประกอบการไม่ต้องเสียเวลา อย่างไรก็ตาม กนอ.อยู่ระหว่างการหารือร่วมกันกับกรมศุลกากร คาดว่าจะเสร็จภายในปี 2561.-สำนักข่าวไทย