ตรัง 7 ธ.ค.-สถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ภาคใต้ยังวิกฤติ โดยเฉพาะที่ตรัง แม้สถานการณ์ใน 8 อำเภอที่ถูกน้ำท่วมไปก่อนหน้านี้เริ่มคลี่คลาย แต่ริมฝั่งแม่น้ำตรังช่วงปลายน้ำยังได้รับผลกระทบ เนื่องจากพนังกั้นน้ำใน 2 ตำบลพังทลายลงมา มีน้ำท่วม 2-3 เมตร
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทย ออกสำรวจพื้นที่ได้รับผลกระทบ หลังน้ำเหนือไหลบ่าจากอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ไหลหลากเข้าพื้นที่ อีกทั้งพนังกั้นน้ำในตำบลบางรัก และตำบลหนองตรุด พังทลายพร้อมกัน ทำให้หลายหมู่บ้านใน 2 ตำบลดังกล่าว รวมถึงหมู่ 4 บ้านป่าหมาก ตำบลนาตาล่วง มีน้ำท่วมสูง 2-3 เมตร ประชาชนเดือดร้อน 70 หลังคาเรือน และพบว่าบ้านหลายหลังเริ่มแตกร้าวรุนแรง หนักกว่าอุทกภัยเมื่อช่วงปี 2559 เพราะถือเป็นน้ำท่วมหนักครั้งที่ 3 ในรอบปี โดยเจ้าหน้าที่ได้ประสานเครื่องสูบน้ำจาก ปภ.เขต 18 ภูเก็ต และ ปภ.เขต 2 สุพรรณบุรีเร่งสูบน้ำออก คาดว่าสัปดาห์หน้าจะคลี่คลาย
ส่วนที่สุราษฎร์ธานี พบว่าเช้าวันนี้ฝนหยุดตกและเริ่มมีแดดอ่อนๆ แต่ทว่ามวลน้ำป่าจากอำเภอดอนสัก ได้ไหลลงคลองท่าทอง อำเภอกาญจนดิษฐ์ ทำให้น้ำล้นฝายและหลากเข้าท่วมบ้านเรือนในตำบลท่าอุแท สูงประมาณ 30 เซนติเมตร ถึง 1.5 เมตร โดยเจ้าหน้าที่ได้นั่งเรือท้องแบนออกสำรวจ เพื่อให้การเยียวยา
ขณะที่บริเวณโดยรอบริมทะเลสาบสงขลา พบว่าสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย ไม่เฉพาะ 4 อำเภอ ในคาบสมุทรสทิงพระเท่านั้น แต่ล่าสุดระดับน้ำได้เข้าท่วมไปถึง 2 ตำบลในอำเภอควนเนียง โดยมีน้ำหนุนสูงกินพื้นที่ลึกเข้ามาบนฝั่งรัศมีประมาณ 1-2 กิโลเมตร ทำให้บ้านเรือนประชาชน รวมถึงวัดจมอยู่ใต้บาดาล และโรงเรียน 3 โรงต้องปิดการเรียนการสอน ไม่ต่างจากที่พัทลุง พื้นที่ 5 อำเภอริมทะเลสาบสงขลา รวมกว่า 60 หมู่บ้าน ยังจมอยู่ใต้บาดาล ระดับน้ำบางจุดสูงประมาณ 1.5 เมตร ชาวบ้านต้องอพยพออกนอกพื้นที่
ส่วนอีก 6 อำเภอในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากน้ำป่าไหลหลากจากเทือกเขาบรรทัด ล่าสุดระดับน้ำลดลงแล้ว เหลือท่วมพื้นที่ลุ่มบางแห่ง แต่ชาวบ้านยังไม่ขนของลงจากที่สูงเพราะยังไม่ไว้วางใจในสถานการณ์.-สำนักข่าวไทย