สธ.27 พ.ย.-สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี พระราชทานต้นการบูร เป็นต้นไม้ประจำกระทรวงสาธารณสุข ในโอกาสครบรอบ 100 ปี โดยกระทรวงตั้งเป้าปลูกให้ครบ 1 ล้านต้นในปี 2561 นักวิชาการชี้มีสรรพคุณทางยาเลิศ ขับลม ขับเสมหะ ช่วยแก้ปัญหาธาตุพิการ
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย และแพทย์ทางเลือก กล่าวเปิดการอภิปราย การบูรไม้เป็นยา ต้นไม้ประจำกระทรวงสาธารณสุข ว่า สืบเนื่องมาจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานต้นการบูร ให้เป็นต้นไม้ประจำกระทรวงสาธารณสุข ในโอกาสครบรอบ 100 ปี ในปี 2561 ต้นการบูร ถือเป็นไม้ที่มีสรรพคุณยา เป็นต้นยืนต้น สูงใหญ่ให้ร่มเงา และไม่ซ้ำกับไม้ประจำจังหวัด หรือสถานศึกษาใด มาก่อน และจากการศึกษาคุณประโยชน์ของต้นการบูร จะพบว่าเป็นไม้ที่ทุกส่วนมีกลิ่นหอม เฉพาะราก โคนต้น มีกลิ่นหอมมากกว่าส่วนอื่น ในฤดูร้อน ใบและเปลือกของต้นการบูรจะกลั่นน้ำมันออกมา ทำให้สดชื่น ในสมุนไพรไทยหลายชนิด มักมีการบูร เป็นส่วนผสม เนื่องจากให้รสเผ็ดร้อน หอมเย็น รู้สึกสบายตัว สรรพคุณขับลม ขับเสมหะ แก้ธาตุพิการ แน่นจุดเสียด ปวดท้อง แก้คัน ปวดเส้น เคล็ดขัดยอก พิษของแมลง หน้ามืด
ด้าน ศ. ดร.ภก.ชยันต์ พิเชียรสุนทร ราชบัณฑิต ราชบัณฑิต กล่าวว่า ต้นการบูรไม่ใช่ไม้ประจำถิ่นของไทย แต่ เป็นไม้ที่มีประโยชน์มาก นิยมปลูกในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน อิยิปต์ อินเดีย หรือแม้แต่ญี่ปุ่นก็มีความนิยมในการปลูกสูงและหากตัดต้นการบูร 1 ต้น ต้องปลูกทดแทน 1ต้น สาเหตุเนื่องจากสรรพคุณที่มากกมายของการบูร ส่วนใหญ่คนมักสับสนระหว่างพิมเสนกับการบูร ซึ่งมีความแตกต่างกันชัดเจน ทั้งวงศ์ของต้นไม้ พิมเสน อยู่ในวงศ์ยางนา การบูรอยู่ในวงศ์อบเชย และมีสูตรโครงสร้างทางเคมีต่างกัน ซึ่งการใช้การบูณส่วนใหญ่จะนำมาสกัด ในรูปแบบของน้ำมัน หรือผลึกที่เกิดจากต้น
และในโอกาสที่ครบรอบ 99 ปี วันสถาปนากระทรวงสาธารณสุข ในปีนี้ ทางคณะผู้บริการกระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมใจกันปลูกต้นการบูรภายในกระทรวง 50 ต้น และตั้งเป้าในระหว่างใกล้ครบ 100 ปี ตั้งเป้าปลูกให้ครบ 1 ล้านต้นทั่วประเทศในพื้นที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุข .-สำนักข่าวไทย