กรุงเทพฯ
23 พ.ย.-นักวิชาการประสานภาครัฐร่วมทำแผนแม่บท จัดการซาก โซลาร์เซลล์ ที่คาด 25
ปีข้างหน้าพุ่งถึง 7.5 แสนตันก่อนจะสร้างมลพิษ ในขณะที่เอกชนไทย-จีน เตรียมลงทุน
60 ล้านบาท ลงทุนโรงกำจัดขยะซากโซลาร์แห่งแรกในไทย
นายเผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์
ผู้อำนวยการบริหารองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) เปิดเผยในเวทีเสวนาเรื่อง
“แนวทางการจัดการซากแผงโซลาร์เซลล์ของภาคอุตสาหกรรม” ที่ร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยจัดขึ้นว่า
จากการที่ไทยมีนโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์(โซลาร์เซลล์) จำนวน
6,000 เมกะวัตต์ในปี 2579 นั้นนับว่าเป็นประโยชน์ แต่ก็ต้องหาทางจัดการ ซากแผงโซลาร์เซลล์ที่จะเกิดขึ้น
คาดว่าจะมีถึง 7.5 แสนตัน ในอีก 25 ปีข้างหน้า
ซึ่งแผงโซลาร์มีทั้งส่วนที่ไม่เป็นอันตรายและส่วนที่เป็นโลหะหนัก ที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้จึงต้องเตรียมพร้อมเพื่อหาแนวทางจัดการแผงอย่างเหมาะสม
นายเอกบุตร อุดมพงศ์ วิศวกรชำนาญการพิเศษ
สำนักบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า
กรอ.ได้จัดทำแผนแม่บทการจัดการซากผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์:เซลล์แสงอาทิตย์(โซลาร์เซลล์)
เพื่อที่จะกำหนดแนวทางการจัดการซากแผงโซลาร์ฯที่หมดอายุ
ซึ่งจากการที่โซลาร์เซลล์เกี่ยวข้อง ดังนั้น จะเสนอ ครม.ให้ตัดสินใจว่าหน่วยงานใดจะเป็นเจ้าภาพในการดูแล ในขณะที่ในแง่การบริการกำจัดขยะล่าสุดมีเอกชนได้มายื่นขอใบประกอบกิจการโรงงานรีไซเคิลขยะจากโซลาร์เซลล์กับกรอ.แล้วซึ่งจะเป็นโรงงานแห่งแรกในไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โรงงานรีไซเคิลแผงโซลาร์
เป็นการดำเนินการร่วมทุนระหว่างนักธุรกิจไทยกับจีน คาดว่าจะสรุปความชัดเจนในต้นปี 2561 ตามแผนจะเริ่มก่อสร้างได้กลางปี
2561 โดยมองพื้นที่ตั้งไว้ที่จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็น 1
ในจัหวัดในเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)
คาดว่าจะใช้เงินลงทุนเพื่อดำเนินการเฟสแรก 60 ล้านบาท –สำนักข่าวไทย