ปปง.7พ.ย.-ปปง.ยึดและอายัดทรัพย์คดีฉ้อโกงประชาชนของอดีตประธานสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ และคดีหลอกลวงให้ประชาชนลงทุนซื้อขายทองคำล่วงหน้า ในประเทศสหรัฐอเมริกา รวมมูลค่ากว่า 57 ล้านบาท
พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์ วีริยาสรร รองเลขาธิการฯ รักษาราชการแทนเลขาธิการ ปปง. กล่าวว่า สำนักงาน ปปง.โดยคณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติยึดและอายัดทรัพย์สินของของผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกง หลอกลวงประชาชน จำนวน 2คดีมูลค่ากว่า 57 ล้านบาท กล่าวคือ 1.รายคดีนายสวัสดิ์ แสงบางปลา ซึ่งเป็นอาจารย์สอนในคณะวิศวกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นประธานสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยหลายสมัย กับพวก โดยได้ร่วมกันกระทำความผิดหลอกลวงประชาชน มาตั้งแต่ปี พ.ศ 2553-2560และมีประชาชนหลงเชื่อนำเงินมาเข้าร่วมลงทุนโควต้าล็อตเตอรี่ โดยอ้างว่าจะให้ผลตอบแทนร้อยละ 12 ต่อปี ซึ่งสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินพึงจะจ่ายได้อันเป็นความเท็จ ซึ่งการกระทำดังกล่าว ทำให้ประชาชนหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อได้รับความเสียหายเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 400 ล้านบาท ซึ่งการกระทำดังกล่าวของนายสวัสดิ์กับพวกที่เป็นความผิดมูลฐานฉ้อโกงประชาชนและชอบโกงอันเป็นปกติธุระอันเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินพ.ศ 2543 มาตรา 3(3) และมาตรา 3(18)
สำนักงาน ปปง.ได้บูรณาการในการปฏิบัติกับกองบังคับการปราบปราม ทำการสืบสวนขยายผลเพื่อทำการยึดอายัดทรัพย์สินของนายสวัสดิ์ แสงบางปลา กับพวก และวันนี้คณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติให้ทำการยึดและอายัดทรัพย์สิน จำนวนทั้งสิ้น 26 รายการ มูลค่ากว่า 11 ล้านบาท
2.คดีน.ส.อินทร์วรางค์ ดำแดง กับพวก มีพฤติการณ์ในการหลอกลวงให้ประชาชนร่วมลงทุนในการซื้อทองคำในตลาดซื้อขายทองคำล่วงหน้า ในประเทศสหรัฐอเมริกา อันเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนและฉ้อโกงอันเป็นปกติธุระ ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานแห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (3) และมาตรา 3 (18)
โดยน.ส.อินทร์วรางค์ กับพวก ได้ร่วมกันกระทำความผิดหลอกลวงประชาชน ตั้งแต่ปี 2555-2560 ทำให้ประชาชนหลงชื่อตกเป็นเหยื่อได้รับความเสียหาย เป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 120 ล้านบาท
สำนักงาน ปปง. ได้บูรณาการในการปฏิบัติงานกับกองบังคับการปราบปราม ทำการสืบสวนและยึดทรัพย์สินของนางสาวอินทร์วรางค์ ดำแดงกับพวก โดยครั้งแรก เมื่อวันที่ 8 ส.ค.2560 ได้อายัดทรัพย์สิน จำนวน 10 รายการ มูลค่าประมาณ 19,000,000 บาท และได้มีการสืบสวน สอบสวนขยายผลอย่างต่อเนื่อง จนสามารถยึดและอายัดทรัพย์สินได้อีก 3 ครั้ง กล่าวคือ เมื่อวันที่ 22ส.ค.2560 อายัดทรัพย์สินอีก จำนวน12 รายการ มูลค่าประมาณ 8,000,000 บาท เมื่อวันที่11 ก.ย.2560 อายัดทรัพย์สินอีก จำนวน 1 รายการ มูลค่าประมาณ 19,000,000 บาท และเมื่อวันที่ 31 ต.ค.2560 ยึดทรัพย์สินอีก จำนวน 17 รายการ กระเป๋าแบรนด์เนมยี่ห้อดัง (อยู่ระหว่างการประเมินราคา) รวมทรัพย์สินที่มีการยึดและอายัดทั้งสิ้น จำนวน 40 รายการ รวมมูลค่ากว่า 46,000,000 บาท
พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์ กล่าวด้วยว่า เพื่อเป็นการตัดวงจรอาชญากรรมและเส้นทางการเงินของผู้กระทำความผิด สำนักงาน ปปง.จะเน้นการสืบสวนสอบสวนขยายผลเพื่อยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดในมูลฐานต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงาน และเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในเรื่องการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและต่อต้านการสนับทางการเงินแก่การก่อการร้าย ภายใต้ปรัชญาการทำงานที่ว่า
“ทรัพย์สินใดเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน ทรัพย์สินนั้นต้องกลับคืนสู่แผ่นดินโดยไม่มีเงื่อนไข ด้วยกฎหมายฟอกเงิน” .-สำนักข่าวไทย