กรุงเทพฯ 18 ต.ค. – กระทรวงอุตสาหกรรมเผยการส่งออกอุตสาหกรรมอาหารไทยยังคงรั้งแชมป์เบอร์หนึ่งของโลก มูลค่าสูงกว่า 890,000 ล้านบาท ชี้สินค้าส่งออกใน 3 กลุ่มมีการขยายตัว ได้แก่ น้ำตาลทราย ไก่ และเครื่องปรุงรส พร้อมผลักดันคอนเซ็ปต์ “ฟู้ดวัลเลย์” ใช้งานวิจัยยกระดับการผลิตรับยุทธศาสตร์ “ไทยแลนด์ 4.0”
นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมอาหารของไทยสามารถส่งออกไปประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคทั่วโลกได้กว่า 200 ประเทศ คิดเป็นมูลค่าเฉลี่ยมากกว่าปีละ 800,000 ล้านบาท โดยปี 2558 สร้างมูลค่าให้กับประเทศได้มากกว่า 897,529 ล้านบาท และถือเป็นประเทศผู้ส่งออกอันดับ 1 ด้วยความโดดเด่นด้านความหลากหลายของอาหารทั้งแบบอาหารแช่แข็งและอาหารแปรรูป และยังถือเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่สำคัญที่ต้องเร่งผลักดัน เพื่อให้เข้าสู่การเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายประเทศไทย 4.0 และอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อการสร้างมูลค่า และการสร้างมาตรฐานที่ดี พร้อมเป็นศูนย์กลางเพื่อการกระจายสินค้าสู่ตลาดทั่วโลกตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ในสัดส่วนตามอัตราการเติบโตที่มีอย่างไม่จำกัด
นายสมชาย กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลาดอาหารของไทยร้อยละ 59.8 อยู่ในภูมิภาคเอเชีย ตลาดสำคัญ ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น กลุ่มประเทศ CLMV อาเซียน และจีน โดยสินค้าหลัก ได้แก่ ข้าว น้ำตาลทราย ไก่ กุ้ง ปลาทูน่ากระป๋อง สับปะรดกระป๋อง แป้งมันสำปะหลัง และเครื่องปรุงรส โดยสินค้าส่งออกที่มีปริมาณและมูลค่าขยายตัวเพิ่มขึ้นมี 3 กลุ่ม คือ น้ำตาลทราย ไก่ และเครื่องปรุงรส และสินค้าที่มีปริมาณส่งออกลดลงแต่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น คือ สับปะรดกระป๋อง และแป้งมันสำปะหลัง ทั้งนี้ แม้ว่าอุตสาหกรรมอาหารของไทยจะมีแนวโน้มการเติบโตด้านการส่งออกระดับที่ดี แต่ยังพบว่าผู้ประกอบการและหลายอุตสาหกรรมยังประสบปัญหาที่ต้องเร่งพัฒนา อาทิ นวัตกรรมด้านการผลิต การวิจัยเพื่อคุณภาพของสินค้า การควบคุมมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ การควบคุมการผลิต
ด้านนายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กสอ.ให้ความสำคัญต่ออุตสาหกรรมอาหาร เพื่อพัฒนาทั้งด้านวัตถุดิบ คุณภาพการผลิต มาตรฐานความปลอดภัย ผ่านการนำกระบวนการวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมมาใช้ในการสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยงบประมาณปี 2560 ร่วมกับสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) สานต่อโครงการฟู้ดวัลเลย์ (Food Valley) ผลักดันผลลัพธ์ในเชิงรูปธรรมระดับพื้นที่ ได้แก่ ผลักดันให้ภาคกลางเป็นศูนย์กลางเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปในกลุ่มอาหารที่มีคุณสมบัติพิเศษและเพื่อสุขภาพ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นศูนย์กลางเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปปศุสัตว์ ภาคใต้เป็นศูนย์กลางเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารทะเลและฮาลาล และภาคเหนือเป็นศูนย์กลางเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปกลุ่มพืชไร่ ผัก และผลไม้ นอกจากนี้ ยังเตรียมโครงการภายใต้งบประมาณปี 2560 กว่า 10 โครงการ อาทิ โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูป โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาล โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป เป็นต้น โดยโครงการต่าง ๆ ดังกล่าวสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศภายใต้โมเดล “ประเทศไทย 4.0” ในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมารวมกับการพัฒนาอุตสาหกรรมให้สามารถแก้ไขปัญหาและส่งเสริมการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ .-สำนักข่าวไทย