กรุงเทพฯ 4 ต.ค.-ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถ-ราชยาน สำหรับใช้พระราชพิธีครั้งนี้ ซึ่งขณะนี้การบูรณะแล้วเสร็จ งดงามสมพระเกียรติ ความหมายและความสำคัญของราชรถ ราชยานแต่ละองค์ตามโบราณราชประเพณีเป็นอย่างไร ติดตามจากรายงาน
ราชรถ ราชยาน เป็นเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ การใช้ราชรถ ราชยาน มีมาแต่ครั้งโบราณ ปรากฏหลักฐานชัดเจนสมัยกรุงศรีอยุธยา สืบเนื่องต่อมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์
พระมหาพิชัยราชรถ หมายถึง “ชัยชนะอันยิ่งใหญ่” เป็นราชรถทรงบุษบก ทำด้วยไม้แกะสลัก ลงรักปิดทอง ประดับกระจก สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 ใช้อัญเชิญพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดิน พระบรมชนก พระราชชนนี พระอัครมเหสี และพระมหาอุปราช ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง มีขนาดใหญ่ที่สุดในริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ สูง 11.20 เมตร กว้าง 4.84 เมตร ยาว 18 เมตร ด้วยน้ำหนักถึง 13.7 ตัน ต้องใช้พลฉุดชักทั้งหมด 216 นาย ด้านหน้า 172 นาย ด้านหลัง 44 นาย และพลควบคุม 5 นาย
เวชยันตราชรถ หมายถึง “รถของพระอินทร์” เป็นราชรถอีกองค์หนึ่งที่รัชกาลที่ 1 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ใช้เป็นราชรถรองในงานพระเมรุพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลต่อมา จนถึงงานพระเมรุรัชกาลที่ 5 ต่อมาพระมหาพิชัยราชรถชำรุด ในงานพระเมรุรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 8 ใช้เวชยันตราชรถเป็นรถทรงพระบรมศพ โดยออกหมายเรียกว่า “พระมหาพิชัยราชรถ”
พระยานมาศสามลำคาน เป็นคานหามขนาดใหญ่ ทำด้วยไม้จำหลัก ลวดลายลงรักปิดทอง มีคานหาม 3 คาน อยู่ในขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ริ้วที่ 1 สำหรับอัญเชิญพระโกศจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ไปประดิษฐานบนพระมหาพิชัยราชรถที่จอดเทียบพลับพลายก วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 ใช้อัญเชิญพระโกศรัชกาลที่ 1 เป็นครั้งแรก
ราชรถปืนใหญ่ เป็นราชรถที่อัญเชิญพระโกศพระบรมศพ พระศพ พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศ์ที่ทรงรับราชการทหารเมื่อครั้งดำรงพระชนม์ชีพแทนพระยานมาศสามลำคานตามธรรมเนียมเดิม เวียนอุตราวัฏรอบพระเมรุมาศ 3 รอบ ซึ่งธรรมเนียมใหม่นี้เกิดขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 6 ในการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพจอมพล พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช เมื่อ พ.ศ.2459 เป็นครั้งแรก ครั้งหลังสุดในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพรัชกาลที่ 8 เมื่อ พ.ศ.2493
พระที่นั่งราเชนทรยาน สร้างในรัชกาลที่ 1 เป็นทรงบุษบก ย่อมุมไม้สิบสอง หลังคาซ้อน 5 ชั้น พนักพิงและกระจังปฏิญาณ แกะสลักภาพเทพพนมไว้ตรงกลาง ครุฑยุดนาคประดับที่ฐาน 14 ตัว ใช้เสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนที่เรียกว่า ขบวน 4 สาย เช่น ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เสด็จพระราชดำเนินจากพระราชมณเฑียร ไปถวายสักการะพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทั้งใช้อัญเชิญพระบรมโกศพระบรมอัฐิพระมหากษัตริย์ และสมเด็จพระบรมราชินี จากพระเมรุมาศท้องสนามหลวง เข้าสู่พระบรมมหาราชวัง
ส่วนพระที่นั่งราเชนทรยานน้อย สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร จัดสร้างขึ้นใหม่ ยึดรูปแบบจากพระที่นั่งราเชนทรายาน แต่ขนาดเล็กกว่า สำหรับอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคาร หรือเถ้าพระบรมอัฐิ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ไปพระบรมมหาราชวัง
การบูรณปฏิสังขรณ์ ราชรถ ราชยาน ทำพิธีบวงสรวงแล้วเสร็จ พร้อมสำหรับอัญเชิญพระบรมศพ พระบรมอัฐิ และพระบรมราชสรีรางคาร ในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยเคลื่อนขบวนให้งดงามประหนึ่งราชรถเคลื่อนบนหมู่เมฆ ส่งเสด็จสู่สวรรค์.-สำนักข่าวไทย