กรุงเทพฯ 15 พ.ย.-ส.ป.ก. 4-01 คือเอกสารสิทธิให้ประชาชนเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน เริ่มขึ้นเมื่อมีพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มีหลักการสำคัญว่า ที่ดินในเขตปฏิรูปใช้ทำเกษตรกรรมได้อย่างเดียวเท่านั้น ทำประโยชน์อย่างอื่นไม่ได้ และผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 จะต้องมีฐานะยากจน
[1] เขตปฏิรูปที่ดินหมายถึง ที่ดินที่เป็นชุมชนเต็มรูปแบบมาก่อน ที่ดินที่เป็นไร่สวนทำกินของราษฎรตั้งแต่บรรพบุรุษ และที่ดินป่าเสื่อมโทรม หมดสภาพป่าและไม่สามารถฟื้นสภาพป่าได้อีก ไม่รวมถึงป่าในเขตอนุรักษ์เช่นอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ หรือเขตต้นน้ำลำธาร
เอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 ไม่อนุญาตให้ทำการซื้อขายที่ดิน หากมีการซื้อขายในขณะที่เอกสารสิทธินี้ยังมีผลอยู่จะเป็นโมฆะ
[2] แต่สามารถโอน แบ่งแยก และตกทอดทางมรดกให้แก่บุคคลในครอบครัวได้แก่ สามีภรรยา บุตร บิดามารดา พี่น้องร่วมบิดามารดา พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดา และหลาน สามารถเช่าหรือเช่าซื้อเพื่อเกษตรกรรม (ไม่อนุญาตให้เช่าเพื่อจุดประสงค์อื่น) ไม่สามารถจดทะเบียนจำนองได้ เว้นแต่เป็นโครงการของรัฐบาลที่อนุญาตให้ใช้เอกสารสิทธิเป็นประกัน สิทธิในที่ดินยังคงเป็นของรัฐ ประชาชนสามารถคืนที่ดินให้รัฐหากไม่ต้องการ และรัฐสามารถเรียกคืนที่ดินได้หากตรวจสอบพบว่าประชาชนมิได้ใช้ทำการเกษตร
ความหมายของที่ดินตามเอกสารภ.บ.ท.5
ภ.บ.ท.5 เป็นแบบแสดงรายการที่ดินที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่จะต้องไปยื่นแบบดังกล่าวเพื่อชำระภาษีบำรุงท้องที่ประจำปีต่อเจ้าพนักงานประเมิน ณ สำนักงานอันเป็นที่ตั้งขององค์กรปกครองท้องถิ่นที่ที่ที่ดินตั้งอยู่ เช่น สำนักงานเขตในกรุงเทพมหานคร สำนักงานเทศบาล ที่ว่าการอำเภอ ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล ทั้งนี้ เป็นไปตามพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ.2508
ภ.บ.ท. 5 จึงมิใช่เอกสารสิทธิในที่ดินที่ออกตามประมวลกฎหมายที่ดิน การซื้อขายจึงทำได้เพียงการส่งมอบการครอบครองที่ดินให้แก่กันเท่านั้น ไม่สามารถไปจดทะเบียน สิทธิและนิติกรรม ณ สำนักงานที่ดินท้องที่ได้ เพราะถือเป็นที่ดินที่ไม่มีหลักฐาน ไม่เคยมีการรังวัดคำนวณเนื้อที่โดยกรมที่ดินมาก่อน อีกทั้งการรังวัดออกเอกสารสิทธิที่ดินจะใช้วิธีการรังวัดทำแผนที่และคำนวณเนื้อที่โดยใช้หลักวิชาการทางแผนที่ซึ่งจะมี มาตรฐานความละเอียดถูกต้อง การแจ้งเนื้อที่ตามหลักฐาน ภ.บ.ท.5 จึงเป็นการแจ้งของผู้ทำประโยชน์ในที่ดินโดยประมาณเพื่อชำระภาษีบำรุงท้องที่ประจำปีเท่านั้น.-สำนักข่าวไทย