กทม. 10 เม.ย. – ริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ พยุหยาตราสถลมารค ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ขณะนี้การซ้อมริ้วขบวนเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เป็นอีกครั้งที่คนไทยจะได้ชมความงดงามของริ้วขบวนตามโบราณประเพณี
การเคลื่อนไหวร่างกายที่แข็งแรง พร้อมเพรียง ของกำลังพลในการฝึกซ้อมริ้วขบวนพระบรมราชอิสสริยยศ พยุหยาตราสถลมารค ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งเป็นการฝึกซ้อมรวมกำลังพลจากทุกหน่วย ภายในกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภ รักษาพระองค์ที่ 11 ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร การฝึกซ้อมดำเนินไปท่ามกลางสภาพอากาศร้อน ทว่ากำลังพลทุกนายต่างทุ่มเทสรรพกำลังทั้งกายใจในการฝึกซ้อม เพื่อให้ทั้ง 3 ริ้วขบวนงดงามสมพระเกียรติยศสูงสุด ทั้งยังเป็นการสืบสานภารกิจงานพระราชพิธีสำคัญตามคติโบราณราชประเพณีที่มีอายุยาวนานนับร้อยปี
การซ้อมจำลองเส้นทางและพื้นที่การฝึกเสมือนจริงในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครยัง 3 วัด เริ่มต้นที่พระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท ภายในพระบรมมหาราชวัง พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท, ศาลาสหทัยสมาคม เคลื่อนริ้วขบวนตามเส้นทางสู่วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร, วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร
คณะอนุกรรมการฯ เผยการฝึกซ้อมเน้นให้กำลังพลคุ้นเคยเส้นทาง การเผชิญจุดอุปสรรคคับขันบริเวณช่องทางแคบต่างๆ อาทิ ประตูวิเศษไชยศรี ประตูพิมานไชยศรี และถนนตะนาว ที่ต้องมีการปรับแถวขบวนให้สามารถผ่านได้โดยคงไว้ซึ่งความพร้อมเพรียง
ด้านผู้บัญชาการทหารสูงสุด กล่าวถึงภาพรวมการซ้อมริ้วขบวนเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เหลือเพียงการเก็บรายละเอียดในแต่ละจุดให้งดงาม
การซ้อมริ้วขบวนมีผู้บัญชาการจากทุกเหล่าทัพเข้าร่วมฝึกซ้อมร่วมกับกำลังพล โดยการเคลื่อนริ้วขบวนกำหนดไว้ที่ 85 ก้าวต่อนาที หรือมีระยะก้าวๆ ละ 40 เซนติเมตร ขณะที่บทเพลงที่ใช้ในการเคลื่อนริ้วขบวน ประกอบด้วย เพลงมาร์ชราชวัลลภ เพลงพระราชนิพนธ์ยามเย็น ใกล้รุ่ง สรรเสริญพระนารายณ์ มาร์ชธงชัยเฉลิมพล ทั้งยังซ้อมการแบกหามพระราชยานที่จะมีการเปลี่ยนกำลังพลชุดแบกหามทุกๆ 500 เมตร และการเทียบเกยทั้งการเข้า-การออก ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญ มีกำหนดเข้าฝึกซ้อมในพื้นที่จริงรวม 3 ครั้ง คือ วันที่ 17 , 21 และ 28 เมษายน
สำหรับเส้นทางเสด็จเลียบพระนครในวันที่ 5 พฤษภาคม 2562 รวมระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร ใช้เวลารวมประมาณ 4 ชั่วโมง เริ่มพิธีในเวลา 16.30 น. เชิญชวนประชาชนร่วมชมความงดงามในงานพระราชพิธีที่เป็นสวัสดิมงคล สะท้อนความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมและโบราณราชประเพณีของไทยที่มีเพียงหนึ่งเดียวในโลก. – สำนักข่าวไทย