ศาลฎีกานักการเมืองฯ 27 ก.ย.-ศาลฎีกานักการเมืองฯพิพากษา จำคุกยิ่งลักษณ์ 5 ปี ไม่รอลงอาญา ฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ปล่อยให้ทุจริตโครงการรับจำนำข้าว
องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 9 คนออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาลับหลังคดีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีปล่อยปละละเลยให้เกิดทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว โดยคำพิพากษามีกว่า 90 หน้า ใช้เวลาอ่านคำพิพากษาเกือบ 4 ชั่วโมง โดยคดีนี้เป็นคดีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้องน.ส.ยิ่งลักษณ์ฐานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่ผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2542 มาตรา 157 และมาตรา 123 / 1
ศาลได้อ่านคำฟ้องและกระบวนการพิจารณาไล่เรียงตั้งแต่การเข้ามาบริหารประเทศและการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวที่มีหลายหน่วยงาน ทั้งองค์การคลังสินค้า (อคส. ) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) รวมถึงการตั้งกระทู้ถามและการอภิปรายไม่ไว้วางใจจากฝ่ายค้านในขณะนั้น ชี้ให้เห็นถึงปัญหารวมไปถึงการทุจริตในขั้นตอนต่าง ๆ ของโครงการรับจำนำข้าวเอื้อประโยชน์ให้คนบางกลุ่มทำให้เกิดความเสียหายแก่เกษตรกร งบประมาณแผ่นดิน กระทรวงการคลังประเทศชาติและประชาชน แต่ไม่ระงับยับยั้งโครงการจนเป็นที่มาให้ป.ป.ช. ไต่สวนและชี้มูลความผิดคดีนี้ โดยเสนอต่ออัยการสูงสุดสั่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ศาลชี้ว่าป.ป.ช.มีอำนาจส่งเรื่องให้อัยการ เพื่อฟ้องต่อศาลกล่าวหาและดำเนินคดีทางอาญาต่อจำเลยในกรณีดำเนินนโยบายผิดพลาดได้ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 250 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตปี 2542 มาตรา 19 อีกทั้งป.ป.ช.มีอำนาจยื่นเรื่องดำเนินการควบสองกรณีทั้งกรณีการยื่นถอดถอนจำเลยในฐานะดำรงตำแหน่งทางการเมืองรวมถึงการดำเนินคดีทางอาญาด้วยและคำฟ้องของศาลก็ชอบด้วยกฏหมาย
ศาลได้อ่านกระบวนการพิจารณาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้องหรือไม่ โดยระบุว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2554 และเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 ได้แถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา โดยมีนโยบายเร่งด่วนในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตจริงจังและผลักดันให้เกษตรกรมีสินค้า โดยนำระบบจำนำข้าวมาใช้เพื่อสร้างความมั่นคงทางรายได้ให้เกษตรกรได้เริ่มโครงการแรกคือจำนำข้าวพร้อมตั้งคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ(กขช.)โดยจำเลยเป็นประธานระหว่างดำเนินการการปรับปรุงแต่งตั้งคณะกรรมการหลายครั้ง
ขณะเดียวกันสตง. ซึ่งมีหน้าที่รายงานการดำเนินงานได้ สรุปปัญหาโครงการรับจำนำข้าวพร้อมเสนอแนะวิธีป้องกันและให้ทบทวนยุติโครงการและป. ป.ช. มีหนังสือเสนอให้พิจารณาว่าโครงการนี้มีปัญหาทุจริตในทุกขั้นตอน ทั้งนี้ ในการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก 5 ฤดูกาลผลิตตั้งแต่ปี 2554 ถึง 2557 ตั้งแต่ขั้นตอนการตรวจคุณสมบัติเกษตรกรที่เข้ากลุ่มการการจำนำและเก็บรักษาข้าวการสีและเก็บรักษาข้าวสารมีปัญหาเรื่องการสวมสิทธิ์ชาวนา การนำข้าวจากต่างประเทศมาสวมสิทธิ์ การออกใบประทวนเท็จ การขนข้าวโดยไม่ได้รับอนุญาตการโกงความชื้นและน้ำหนักซึ่งมีการทุจริตในขั้นตอนต่าง ๆ มีความเสียหายเกิดขึ้นและกระทบต่องบประมาณแผ่นดิน
ส่วนขั้นตอนการระบายข้าวมีสองรูปแบบโดยให้อคส. นำไปบรรจุถุงขายในราคาต่ำกว่าท้องตลาดใน5โครงการ แต่การตรวจสอบการจำหน่ายตัวเลขวางจำหน่ายไม่ตรงกับตัวเลขที่บรรจุให้เห็น การคบคิดเป็นขบวนการ ส่วนการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ(จีทูจี) ที่จำเลยเคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่ารับทราบการขายข้าวกับต่างประเทศ เท่ากับเป็นการรับทราบทุกขั้นตอน แต่ข้อเท็จจริงแล้วไม่มีการส่งออกข้าวไปยังประเทศคู่ค้า ประกอบกับมีหลักฐานปรากฏชัดว่ามีการนำข้าวมาวนขายในประเทศและจ่ายเงินรูปแบบแคชเชียร์เช็ค ซึ่งผิดปกติและประเด็น การระบายข้าวนายบุญทรงเตริยาภิรมย์อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กับพวกได้ถูกตัดสินว่ามีความผิดไปแล้วก่อนหน้านี้ ดังนั้น ขั้นตอนการระบายข้าวจึงเกิดการทุจริตขึ้นจริง
อย่างไรก็ตาม ในโครงการรับจำนำข้าวมีการใช้เงินเกินกรอบวงเงินที่รัฐบาลกำหนดไว้ 500,000 ล้านบาท โดยพบยอดจำนำข้าว 5 ฤดูกาล 878,000 ล้านบาท มีการค้างชำระหนี้ทุกครั้งและเพิ่มมูลราคาขึ้นเรื่อย ๆ อันเกิดจากปัญหาขาดสภาพคล่องของงบประมาณหมุนเวียน แสดงให้เห็นถึงการขาดประสิทธิภาพของโครงการบ่งชี้ว่าคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ(กขช.) ขาดประสิทธิภาพในการกำกับดูแลให้เป็นไปตามโครงการ ในฐานะนายกรัฐมนตรีและประธานกขช. ที่ต้องติดตาม บริหารจัดการให้ดีและให้เกิดประสิทธิภาพ คุ้มค่ามากกว่านี้ เพราะจำเลยมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินให้สัมฤทธิ์ผลมีประสิทธิภาพ แต่ขั้นตอนในโครงการรับจำนำข้าวเกิดการทุจริต ซึ่งเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ จำเลยได้ออกมาตรการป้องกันอย่างสมเหตุสมผลแล้ว
ส่วนขั้นตอนการระบายข้าวถุง ข้อต่อสู้ของจำเลยฟังขึ้น โดยโต้แย้งถึงผลการตรวจสอบทุจริต จำหน่ายข้าวถุงซึ่งได้สั่งให้ตรวจสอบอย่างเอาจริงเอาจังจนเป็นที่มาของการระงับ ขณะที่การระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐหรือจีทูจีมีเวลาที่จะระงับยับยั้งโครงการหากพบปัญหา แต่จำเลยละเว้นหน้าที่ ตามกฏหมายส่อเจตนาเอื้อประโยชน์ให้นายบุญทรง เตริยาภิรมย์กับพวก บริษัทกว่างตง บริษัทห่ายหนาน ที่มาทำสัญญาแบบรัฐต่อรัฐ และขายข้าวถูกกว่าท้องตลาด โดยได้ค่าส่วนต่างในสัญญา4 ฉบับ ศาลวินิจฉัยว่าเป็นการขายที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากมีการแอบอ้างสัญญาแบบรัฐต่อรัฐ เพื่อนำข้าวมาเวียนขายให้แก่ผู้ค้าข้าวภายในประเทศอันเป็นการแสวงหาผลประโยชน์โดยทุจริต
เรื่องนี้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจให้จำเลยทราบรายละเอียดและวิธีการขายที่ไม่เป็นไปตามแนวปฏิบัติของการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐและมีข้อมูล ต่าง ๆ แต่จำเลยไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและไม่ระงับยับยั้ง ปล่อยให้มีการส่งมอบข้าวตามสัญญาให้รัฐวิสาหกิจจีนต่อไปอีก อันเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฏหมาย สำหรับผู้อื่นการกระทำของจำเลยจึงเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157(เดิม) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเคลียร์ 2542 มาตรา 123 / 1 ศาลจึงพิพากษาลงโทษหนักสุดจำคุก 5 ปีและองค์คณะมีมติเอกฉันท์ไม่รอลงอาญา
ช่วงท้ายของการอ่านคำพิพากษาองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระบุว่า ผลคำพิพากษาให้ใช้บทลงโทษ ตามพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมปี 2560 มาตรา 7 และยกเลิกมาตรา 157(เดิม) แต่ ทั้งนี้ศาลเห็นว่าโทษดังกล่าวที่ปรับใหม่เป็นโทษที่รุนแรง และไม่เป็นคุณต่อจำเลย จึงเห็นว่าควรให้กลับมาใช้มาตรา 157 (เดิม) เพราะเป็นบทลงโทษระหว่างที่จำเลยปฏิบัติหน้าที่.-สำนักข่าวไทย
![](https://imgs.mcot.net/images//2017/09/1506507774434.jpg)