กรุงเทพฯ 25 ก.ย.-สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ชูเทคนิคการรักษามะเร็งเต้านมแบบครบวงจร หวังช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตหญิงไทย พร้อมนำนวัตกรรมการค้นหาภาวะข้อไหล่ติด หลังการผ่าตัดเต้านม มาใช้ช่วยเหลือลดอัตราการป่วย
นพ.ธีรพล โตพันธานนท์ อธิบดีกรมการแพทย์ พร้อมด้วย นพ. วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผอ.สถาบันมะเร็งแห่งชาติ แถลงข่าวผลงานนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็ง ศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคมะเร็งเต้านม(Comprehensive Breast Cancer center) ว่า เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวหน้า ทำให้ประชากรส่วนใหญ่อายุยืน ประกอบกับวิถีการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไป ทำให้พบอัตราการป่วยและตายจากโรคมะเร็งเพิ่มมากขึ้น ในผู้หญิงพบการป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านมมากที่สุด โดยข้อมูลจากองค์กรวิจัยมะเร็ง นานาชาติ ปี 2555พบว่าอุบัติการณ์ การเกิดโรคมะเร็งเต้านมในผู้หญิงทั่วโลก พบราว 43.1 ต่อแสนประชากร และมีอัตราการเสียชีวิต 521,907 คน ในประเทศไทยพบผู้ป่วย 28.5 ต่อแสนประชากร หรือคิดเป็นผู้ป่วยรายใหม่ 12,613 ราย เสียชีวิต 2,896 ราย ส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ย 40-70 ปี
ทั้งนี้ เพื่อการให้การรักษา เป็นไปอย่างเป็นระบบ จึงได้จัดทำแผนพัฒนาบริการสุขภาพ ด้านมะเร็ง เน้นตั้งแต่การ ป้องกัน คัดกรองโรค รักษา จึงได้มีการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคมะเร็ง เพื่อดูแลในระบบตติยภูมิ ครอบคลุม ตั้งแต่เครื่องถ่ายภาพแกมม่า ตรวจหาสิ่งผิดปกติ การผ่าตัดด้วยเทคนิค Oncoplastic Surgeryนอกจากนี้ยังครอบคลุมการผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองเพื่อลดภาวะการแทรกซ้อน หรือการผ่าตัดร่วมกับการฉายแสง
ส่วนนวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นมาใหม่นั้น คือการนวัตกรรมการค้นหาภาวะข้อไหล่ติด หลังจากการผ่าตัดมะเร็งเต้านม จนได้รับรางวัลบริหารภาครัฐแห่งชาติ (ก.พ.ร.) .-สำนักข่าวไทย