กรุงเทพฯ 13 ก.ย.-โครงการโรคฮีโมฟีเลียโรคเรื้อรังที่มีค่าใช้จ่ายสูงที่ สปสช.นำเข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่ปี 2549 ช่วยผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียนับ พันรายต่อปี สามารถรับน้ำเหลืองทดแทน หรือแฟคเตอร์แปด แฟคเตอร์เก้า โดยการฉีดเข้าหลอดเลือดดำด้วยตัวเองที่บ้านไม่ต้องมารับน้ำเหลืองในรพ.ช่วยลดค่าใช้จ่ายของ รพ.ได้มาก ทำให้ผู้ป่วยโรคดังกล่าวบางรายมีคุณภาพชีวิตที่ดีบางคนเรียนจบแพทย์ได้
นพ.ชูชัย ศรชำนิ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. กล่าวว่า โรคเลือดออกง่าย หรือฮีโมฟิเลีย เป็นโรคเรื้อรังที่มีค่าใช้จ่ายสูงโดย สปสช. ตระหนักและเล็งเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีการลงทุนด้านสุขภาพ โดยนับตั้งแต่ริเริ่มโครงการในปี 2549 ในการจัดสรรแฟคเตอร์เข้มข้นที่ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อโรคอย่างครบถ้วนที่สั่งซื้อจากต่างประเทศ มาช่วยรักษาผู้ป่วยโรคฮีโมฟิเลียที่ได้ลงทะเบียน ใน ระบบหลักประกันสุขภาพ โดยจะมีแพทย์พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์แนะนำสอนผู้ป่วยและครอบครัว ให้สามารถฉีดแฟคเตอร์เข้มข้นเข้าหลอดเลือดดำเมื่อเริ่มมีอาการติดขัดที่ข้อหรือกล้ามเนื้อ แฟคตอร์จะหยุดอาการเลือดออกได้เร็วขึ้น ไม่ต้องแอดมิดเข้าโรงพยาบาลทำให้ลดค่าใช้จ่าย ของทั้งตัวผู้ป่วยและโรงพยาบาลเองคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น
ศ.พญ.อำไพวรรณ จวนสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมนานาชาติโรคเลือดออกง่ายฮีโมฟีเลีย-กรุงเทพฯ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดีกล่าวว่า โรค ฮีโมฟีเลีย เป็นโรคเลือดออกง่ายหยุดยากทางพันธุกรรมเป็นโรคที่ พบไม่บ่อย ผู้ป่วยจะมีอาการเลือดออกในข้อ ในกล้ามเนื้อ ผู้ป่วยต้องรับการรักษาในโรงพยาบาลเพื่อรับน้ำเหลืองทดแทนแฟคเตอร์แปด หรือแฟคเตอร์เก้า ซึ่งเป็นสารโปรตีนช่วยในการแข็งตัวของเลือดที่ผู้ป่วยขาดเป็นเวลา 3-7 วัน เพื่อรักษาอาการออกผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียชนิดรุนแรงมากและชนิดรุนแรงปานกลาง จำเป็นต้องเข้าแอดมิดใน รพ.เมื่อมีอาการเลือดออกเดือนละ 2-3 ครั้งตลอดปีผู้ป่วยต้องทนทุกข์กับอาการปวด ในข้อในกล้ามเนื้อ ทั้งต้องขาดเรียน ผู้ปกครองต้องขาดงานมาดูแล และยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอดส์ ตับอักเสบจากการรับน้ำเหลือง ปริมาณมากตั้งแต่วัยเด็ก ผู้ป่วยโรคฮีโมฟิเลียจำนวนหนึ่งเสียชีวิตตั้งแต่วัยเด็กเพราะมีเลือดออกรุนแรงในสมอง ในช่องท้องและทางเดินอาหาร แต่ตลอด10 ปีที่มีโครงการรักษาผู้ป่วยที่บ้านทำให้ผู้ป่วย ฮีโมฟีเลีย นับพันรายที่เคยต้องมานอนแอดมิดใน รพ.ได้หายไปจาก รพ.จนนักศึกษาแพทย์และบุคลากรทางแพทย์ที่เกี่ยวข้องไม่รู้จักอาการเลือดออกในข้อ ในกล้ามเนื้อ ปัญหาข้อพิการและภาวะกล้ามเนื้อลีบ
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่ลงทะเบียนกับหน่วยบริการเฉพาะโรคฮีโมฟีเลีย ทั่วประเทศ 1,519 รายทั้ งหมดรู้จักดูแลตัวเอง ไม่มีปัญหาข้อพิการไม่มีภาวะกล้ามเนื้อลีบอีกต่อไปผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ปกติ
ด้าน นพ.ชูชัย เปิดเผยล่าสุด สภากาชาดไทยมีโครงการในพระราชูปถัมภ์ สร้างโรงงานผลิตแฟคเตอร์แปดได้เองโดยวิธีอนุชีววิทยา เพื่อจะได้ไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ถือเป็นความร่วมมือของคณะแพทยศาสตร์ทั่วประเทศ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรค ฮีโมฟีเลีย.-สำนักข่าวไทย