กรุงเทพฯ 6 ก.ย. – ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนสิงหาคม 60 อยู่ที่ 74.5 ปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน โดยดีขึ้นในแง่มุมมองในอนาคต ส่วนราคาก๊าซปรับขึ้นเชื่อไม่กระทบภาคขนส่ง
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนสิงหาคม 2560 ว่า ดัชนีอยู่ที่ระดับ 74.5 เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ระดับ 73.9 ปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน เนื่องจากการส่งออกฟื้นตัวดีขึ้น โดยในช่วง 7 เดือนแรกส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.20 ผู้บริโภคมีความหวังว่าเศรษฐกิจในอนาคตจะปรับตัวดีขึ้นตามการส่งออกและการท่องเที่ยวที่จะฟื้นตัวดีขึ้นและการลงทุนภาครัฐที่จะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ตลอดจนการแถลงภาพรวมเศรษฐกิจดีขึ้นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และผู้บริโภคส่วนใหญ่เริ่มคลายความกังวลกับสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันและเห็นว่าสถานการณ์ทางการเมืองในอนาคตน่าจะมีเสถียรภาพมากขึ้น ดัชนีหุ้นทะลุ 1,600 จุดครั้งแรกในรอบ 2 ปีครึ่ง ราคายางปรับ 55-60 บาทต่อกิโลในช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังไม่ฟื้นตัวมาก เนื่องจากยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ราคาพืชผลทางการเกษตรส่วนใหญ่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำม้น และสัปปะรดโรงงาน เป็นต้น ทำให้กำลังซื้อทั่วไปหลายจังหวัดทั่วประเทศขยายตัวระดับต่ำและไม่คล่องตัว ส่งผลให้ผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจปัจจุบันยังไม่ฟื้นตัวดีขึ้นมากนัก ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรฐษกิจในปัจจุบันยังเป็นดัชนีเดียวที่ยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 แม้จะรู้สึกว่าสถานการณ์ในอนาคตจะปรับตัวดีขึ้นก็ตาม
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 62.4 , 69.7 และ 91.5 ตามลำดับ โดยปรับตัวดีขึ้นทุกรายการ เมื่อเทียบกับดัชนีเดือนกรกฎาคม 2560 อยู่ที่ระดับ 62.2, 69.1 และ 90.4 ตามลำดับ
ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจปีนี้ คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.6 และมีโอกาสโตร้อยละ 3.8-4 เป็นไปได้มากขึ้นประกอบการเร่งเบิกจ่าย และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่เร่งโอนเงินจะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่การส่งออกคาดว่าจะโตใกล้เคียงร้อยละ 5 มากขึ้น
สำหรับการปรับราคาก๊าซหุงต้มนั้น ไม่มีผลต้นทุนขนส่งสินค้า เพราะการขนส่งสินค้าระยะไกลใช้ก๊าซเอ็นจีวีเป็นสำคัญ ส่วนการใช้แอลพีจีในการหุงต้มอาหาร น่าจะทำให้ต้นทุนเพิ่มไม่สูงนัก ร้านค้าอาหารน่าจะปรับตัวได้ และไม่น่าจะมีผลต่อค่าครองชีพ รวมถึงไม่เกี่ยวข้องกับการปรับค่าเอฟที รวมถึงไม่มีเหตุทำให้เงินเฟ้อเพิ่มจากกรอบร้อยละ 0.7-1 และไม่น่าจะเป็นภาระมากนักกับผู้ผลิตสินค้าจนต้องขึ้นราคา. – สำนักข่าวไทย