กรุงเทพฯ 21 ส.ค. – สศช.เผยจีดีพีไตรมาส 2 /60 โตร้อยละ 3.7 สูงสุดในรอบ 17 ไตรมาส ขณะที่การส่งออก และ การลงทุนเอกชนขยายตัวสูงเกินคาด ส่งผลปรับจีดีพีปีนี้เพิ่มเป็นโตร้อยละ 3.5-4
นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)หรือสภาพัฒน์ กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์มวลภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 2 /2560 ขยายตัวร้อยละ 3.7 ขยายตัวเกินกว่าที่คาดไว้ เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.3 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 17 ไตรมาส ตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2556 รวมครึ่งแรกของปี 2560 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 3.5
โดยปัจจัยสนับสนุนมาจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการส่งออกและบริการ ขยายตัวร้อยละ 8 การปรับตัวดีขึ้นของการลงทุนภาคเอกชนที่กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 3.2 ดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ลดลงร้อยละ 1.1 และเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส ขณะที่ภาคการเกษตรขยายตัวดีถึงร้อยละ 15.8 ตามการปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติหลังจากภัยแล้งสิ้นสุดลง ทำให้กำลังซื้อภาคการเกษตรดีขึ้น มาช่วยชดเชยการลงทุนภาครัฐในไตรมาส 2 ที่ชะลอตัวลง ติดลบร้อยละ 7 เนื่องมาจากการอัดฉีดงบประมาณของรัฐบาลน้อย
นายปรเมธี กล่าวว่า สศช. ได้ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจปี 2560 สูงขึ้น เป็นขยายตัวร้อยละ 3.5-4 ค่ากลางที่ร้อยละ 3.7 จากเดิมเมื่อเดือนพฤษภาคมที่คาดจีดีพีโตร้อยละ 3.3-3.8 ค่ากลางร้อยละ 3.5 เนื่องจากการส่งออกขยายตัวสูงกว่าที่คาด โดยปรับการส่งออกโตร้อยละ 5.7 จากเดิมคาดโตร้อยละ 3.6 จากภาวะเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ขยายตัวได้ดี โดยปรับเพิ่มเศรษฐกิจโลกโตร้อยละ 3.4 จากเดิมคาดขยายตัวร้อยละ 3.3 นอกจากนี้มาจากการปรับตัวดีขึ้นของการลงทุนภาครัฐที่คาดว่าโตร้อยละ 8 ตามเป้าหมาย การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าโตร้อยละ 2.2 รวมทั้งการปรับตัวดีขึ้นของรายได้ครัวเรือนในภาคเกษตร การส่งออก การท่องเที่ยว ทำให้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวดีขึ้นเป็นร้อยละ 3.2
ส่วนค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้น ทางสศช. เห็นว่ายังไม่เป็นอันตรายต่อการส่งออก การส่งออกยังขยายตัวได้ดี ผลบวกจากการขยายตัวของการค้าโลก และเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ทั้งยุโรป ญี่ปุ่น และ จีน อย่างไรก็ตามภาคเอกชนแต่ละรายรับความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนได้แตกต่างกัน โดยยังต้องติดตามนโยบายเศรษฐกิจของอเมริกาที่ยังมีความไม่แน่นอน ยังปัจจัยสำคัญในการกดดันค่าเงินบาท โดยสศช. คาดเงินบาทเคลื่อนไหว34-35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ .- สำนักข่าวไทย