สธ. 9 ส.ค.-กรมสุขภาพจิต เร่งตรวจคัดกรอง ค้นหาผู้มีความเครียดตั้งแต่ระดับปานกลางขึ้นไปเพื่อนำเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาให้หายขาด เผยผลดำเนินงานที่สกลนครในรอบ 2วันครอบคลุมพื้นที่ไปกว่าร้อยละ 70 ยอดสะสมผู้มีความเครียดปานกลาง-รุนแรง 104 คน เสี่ยงเกิดอาการซึมเศร้า 69 คน และเสี่ยงฆ่าตัวตาย 10 คน ต้องเฝ้าระวังใกล้ชิดในช่วง 2 สัปดาห์ถึง 1 เดือน พร้อมย้ำให้ประชาชนช่วยกันเฝ้าระวังผู้ที่มีอาการซึมเศร้าหลังน้ำท่วม หากพบให้รีบพาไปรักษาเร็วที่สุด อย่าปล่อยให้อยู่คนเดียวอย่างเด็ดขาด
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการฟื้นฟูดูแลผู้ประสบภัยน้ำท่วมจากพายุเซินกาว่า กรมสุขภาพจิตได้ส่งทีมจิตแพทย์เอ็มแคทจากรพ.จิตเวชต่างๆและศูนย์สุขภาพจิตร่วมปฏิบัติการฟื้นฟูจิตใจผู้ประสบภัยร่วมกับทีมเอ็มแคทจากโรงพยาบาลต่างๆในพื้นที่ประสบภัยทุกจังหวัดภายหลังน้ำลดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรายงานของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยล่าสุดในวันนี้ มีพื้นที่น้ำท่วม 44 จังหวัด คลี่คลายแล้ว 35 จังหวัดและยังมีสถานการณ์ 9 จังหวัด โดยได้เร่งดำเนินการตรวจคัดกรองค้นหาผู้ที่มีความเครียดผิดปกติให้ได้เร็วที่สุดภายใน 1-2 สัปดาห์หลังน้ำลด เพื่อเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิดให้หายขาด ป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพจิตระยะยาว โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า ( Depression) ซึ่งจะนำมาสู่ปัญหาการฆ่าตัวตาย(Suicide) ซึ่งมีโอกาสสูงกว่าคนทั่วไปถึง 20 เท่าตัว
ทั้งนี้ในส่วนของจังหวัดสกลนคร ผลการตรวจคัดกรองหาผู้ที่มีความเครียดจากน้ำท่วมในพื้นที่ 18 ตำบลใน 8 อำเภอ เช่นอ.เมือง กุสุมาลย์ โพนนาแก้ว ในรอบวันที่ 7-8 สิงหาคม 2560 ซึ่งดำเนินการได้ครอบคลุมพื้นที่ประสบภัยที่ได้รับผลกระทบรุนแรงไปแล้วประมาณร้อยละ 70 ได้ตรวจคัดกรองแล้ว 1,079 คน พบผู้ที่มีความเครียดในระดับปานกลางขึ้นไปเช่นมีอาการปวดศีรษะ นอนไม่หลับ กินไม่ได้ รวมทั้งหมด 104 คน ในจำนวนนี้พบผู้ที่เครียดรุนแรงมีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าจำนวน 69 คน และมีความเสี่ยงฆ่าตัวตายรวม 10 คน ทั้งหมดนี้จิตแพทย์ได้ให้การรักษาเช่นให้กินยาคลายเครียดและอยู่ในความดูแลเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดของทีมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขรวมทั้งอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน อาสาสมัครประจำครอบครัวรวมทั้งครอบครัว และชุมชนด้วยในช่วง 2 สัปดาห์ถึง 1 เดือน
ด้านนายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์ จ.นครพนม กล่าวว่า จากการประเมินของทีมเอ็มแคทที่เข้าเยี่ยมบ้านผู้ประสบภัยทั่วไป พบว่าประชาชนมีขวัญกำลังใจดีขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนถึงระบบคุณภาพการทำงานจากทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในช่วง 72 ชั่วโมงแรก ซึ่งเป็นภาวะวิกฤติฉุกเฉินเร่งด่วนในการเอาชีวิตรอดปลอดภัย ทำให้ผู้ประสบภัยเกิดความมั่นใจเนื่องจากได้รับการดูแลช่วยเหลือเป็นอย่างดี
“อย่างไรก็ดีการเกิดภาวะซึมเศร้าหลังน้ำท่วมนี้ เป็นเรื่องที่ประชาชนทุกคนต้องช่วยกันเฝ้าระวังบุคคลในครอบครัวหรือบุคคลที่รู้จัก โดยเฉพาะในรายที่สูญเสียบุคคลในครอบครัว สูญเสียของรักหรือทรัพย์สินเสียหายซึ่งบางคนมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว ผลกระทบทางจิตใจอาจเกิดรุนแรงกว่าคนอื่นๆ จะสังเกตผู้ที่มีอาการได้ดังนี้คือ มีอารมณ์เศร้าหมอง ร้องไห้ง่าย เบื่อหน่ายกิจกรรมที่เคยชอบทำ นั่งเหม่อ ใจลอยโดยผู้ที่มีอาการซึมเศร้ามักบอกว่าไม่มีแรงทำงาน ปวดหัวบ่อย ใจสั่น ท้องอืด จุกเสียด บ่นอยากตาย หากพบให้รีบพาไปพบแพทย์หรือแจ้ง อสม.เจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อให้ได้รับการรักษา อย่าปล่อยให้ผู้ที่มีอาการซึมเศร้าอยู่คนเดียวอย่างเด็ดขาด” นายแพทย์กิตต์กวีกล่าว .-สำนักข่าวไทย