กรุงเทพฯ 5 ก.ค. – กนง. ปรับเพิ่มจีดีพีปีนี้โตร้อยละ 3.5 ชูส่งออกเป็นพระเอก โตร้อยละ5 พร้อมคงดอกเบี้ยที่ร้อยละ 1.50 ต่อไป
นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ( ธปท. ) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน ( กนง. ) กล่าวว่า ที่ประชุมกนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี เนื่องจากภาวะการเงินอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ กนง. ยังปรับเพิ่มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้เป็นขยายตัวร้อยละ 3.5 จากเดิมคาดว่าขยายตัวร้อยละ 3.4 และปรับจีดีพีปี 2561 เพิ่มเป็นเติบโตร้อยละ 3.7 จากเดิมเติบโตร้อยละ 3.6 เนื่องจากเศรษฐกิจมีทิศทางการฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น แต่ยังไม่กระจายตัวโดยเฉพาะในกลุ่มเอสเอ็มอี กับแรงงานภาคการผลิต โดยแรงสนับสนุนหลักของเศรษฐกิจมาจากการส่งออกที่ขยายตัวดีขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิคส์ และ ล้อยาง ซึ่งกนง.ได้ปรับการส่งออกปีนี้ขยายตัวเพิ่มเป็นร้อยละ 5 จากเดิมคาดขยายตัวร้อยละ 2.2 ส่วนการส่งออกในปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 1.7 จากเดิมขยายตัวร้อยละ 2 ขณะที่การท่องเที่ยว เป็นอีกปัจจัยที่หนุนเศรษฐกิจให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยคาดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ มาเที่ยวไทยปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 34.9 ล้านคน จากเดิม 34.5 ล้านคน โดยส่วนใหญ่ยังเป็นนักท่องเที่ยวจากจีน
ส่วนการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวที่ร้อยละ 3.1 ตามรายได้เกษตรกร ขณะที่รายได้ของแรงงานในภาคการผลิตยังไม่ได้รับผลดีที่ชัดเจนจากการส่งออกที่ปรับดีขึ้น พร้อมกันนี้ยังต้องจับตาตลาดแรงงานที่อาจตึงตัวขึ้นจากสถานการณ์แรงงานต่างด้าว ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ขยายตัวร้อยละ 1.7 การลงทุนส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในภาคการผลิตเพื่อการส่งออกเป็นหลัก ส่วนการลงทุนภาครัฐขยายตัวร้อยละ 7.7 ยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญสำหรับเศรษฐกิจไทย แม้บางโครงการอาจจะล่าช้าไปบ้าง
อย่างไรก็ตามยังมีความเสี่ยงต่อประมาณการเศรษฐกิจโน้มไปด้านต่ำจากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าสหรัฐ การปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจจีน และปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ พร้อมกันนี้ กนง.ยังให้ติดตามความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนระยะสั้น ความสามารถในการและ ความเสี่ยงจากพฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น ในภาวะที่ดอกเบี้ยต่ำมานาน โดยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงในเดือนกรกฎาคม 2560 ติดลบร้อยละ 0.3 ทำให้ต้องระวังเสถียรภาพทางการเงินมากขึ้น ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลง อยู่ที่ร้อยละ 0.8 และอาจต่ำกว่ากรอบเป้าหมายในบางช่วง แต่มีทิศทางปรับดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังตามการฟื้นตัวของการบริโภคในประเทศ คาดว่าเงินเฟ้อจะเข้าสู่กรอบล่างที่ร้อยละ 1 ในไตรมาส 4 ปีนี้ – สำนักข่าวไทย