กรุงเทพฯ 31 พ.ค. – สนข.เดินหน้าโครงการศึกษาแนวทางการติดตามประเมิน (Tracking) การใช้พลังงานที่ลดได้จากมาตรการภาคขนส่ง
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดโครงการศึกษาแนวทางการติดตามประเมิน (Tracking) การใช้พลังงานที่ลดได้จากมาตรการภาคขนส่งและการประชุมสัมมนาทางวิชาการครั้งที่ 2 โดย ผู้อำนวยการสนข.ระบุว่า การตระหนักถึงปัญหาการใช้พลังงานและปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคขนส่ง สนข.จึงได้วางแผนและดำเนินนโยบายต่างๆ เพื่อรองรับและแก้ไขปัญหาดังกล่าว
โดยได้จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 20ปี (พ.ศ. 2560-2579) ที่มีเป้าหมายประการแรก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบคมนาคมขนส่งของประเทศ ประการที่ 2 เพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงระบบคมนาคมขนส่งได้อย่างสะดวกทั่วถึง และประการที่ 3 เพื่อให้ระบบคมนาคมนาคมขนส่งเป็นระบบที่ปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการนำนวัตกรรม เทคโนโลยี และการบริหารจัดการมาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในกระบวนการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งในทุกระยะของการพัฒนา ตามยุทธศาสตร์ 20 ปีดังกล่าว
สำหรับโครงการนำร่องที่ได้จัดทำการคัดเลือกนั้น เป็นต้นแบบการประเมินการใช้พลังงานที่ลดได้จากมาตรการภาคขนส่ง คือ โครงการฯ Eco-Sticker หรือป้ายข้อมูลรถยนต์ คือแผ่นป้ายที่มีการระบุข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง และ ผลการทดสอบตามมาตรฐานที่สาคัญของรถยนต์ในด้าน “สะอาด ประหยัด ปลอดภัย” อันเป็น ประโยชน์ต่อการพิจารณาตัดสินใจเลือกซื้อรถยนต์ของผู้บริโภค และ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง โดย จากผลการประเมินของโครงการฯ นั้น พบว่า ปริมาณการลดการใช้พลังงานจากมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานของยานยนต์จากมาตรการเก็บภาษีสรรพสามิต จากอัตราการปล่อย CO2 และการติด Eco-sticker พบว่าในปี พ.ศ. 2579 (ค.ศ. 2036) มาตรการดังกล่าวจะสามารถช่วยลดการใช้พลังงานในรถยนต์ส่วนบุคคล ได้ประมาณ 2,737 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ หรือ ktoe และรถบรรทุกส่วนบุคคลได้ประมาณ 835.9 ktoe รวมทั้งหมดประมาณ 3,573 ktoe หรือเทียบเท่าน้ำมันดิบ 3,640 ล้านลิตร และผลจากการลดการใช้พลังงาน ทำให้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 9.89 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือ MtCO2 ซึ่งมาจากรถยนต์ส่วนบุคคลประมาณ 7.44 MtCO2 และรถบรรทุกส่วนบุคคลประมาณ 2.45 MtCO2 และในส่วนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงสามารถช่วยลดการใช้พลังงานในรถยนต์ส่วนบุคคลและรถยนต์ประเภทอื่นในบริเวณโครงการได้ประมาณ 2.9 ล้านลิตร/ปี (หรือ 2.5 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ) ซึ่งผลจากการลดการใช้พลังงานทำให้สามารถ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (CO2) ได้ประมาณ 6,680 tCO2 ในปี 2579”
นางนางเอมอร ชีพสุมล รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การใช้พลังงานในภาคการขนส่งนับเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการใช้พลังงานในประเทศไทย โดยจากสถิติของกระทรวงพลังงาน พบว่าประเทศไทยมีการใช้พลังงานในปี 2559 มีปริมาณ 79,929 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.6 คิดเป็นมูลค่ากว่า 868,105 ล้านบาท
โดยในภาคการขนส่งนั้น มีปริมาณ 30,181 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 38 ทั้งนี้ การใช้พลังงานยังคงเพิ่มขึ้นตามการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยจากการเพิ่มขึ้นของการใช้พลังงานของประเทศ ในทุกๆ สาขาเศรษฐกิจ กระทรวงพลังงาน จึงได้มีการจัดทำแผนการใช้พลังงานเพื่อกำหนดทิศทางนโยบายการพัฒนาและการใช้พลังงาน ผ่านแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558-2579 และแผนอนุรักษ์ พลังงาน พ.ศ. 2558 -2579 โดยมีนโยบายและมาตรการในการลดการใช้พลังงานในภาคคมนาคมขนส่ง เป็นหนึ่งในนโยบายหลักภายใต้แผนอนุรักษ์พลังงาน ที่มีสัดส่วนตามเป้าหมายการลดการใช้พลังงานในปี พ.ศ. 2549 ถึงร้อยละ 46 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามแผนอนุรักษ์พลังงาน สนพ. ในฐานะหน่วยงานที่เป็นผู้จัดทำแผนอนุรักษ์พลังงาน และหน่วยงานที่ดูแลกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษพลังงาน จึงได้สนับสนุนงบประมาณให้กับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. ในการดำเนินโครงการศึกษาแนวทางการติดตามประเมิน (Tracking) การใช้พลังงานที่ลดได้จากมาตรการภาคขนส่ง โดยคาดหวังว่า ผลจากโครงการนี้จะเป็นต้นแบบและตัวอย่างในการติดตามประเมินการใช้พลังงานที่ลดจากมาตรการในภาคคมนาคมขนส่งที่เกี่ยวข้องต่อไป- สำนักข่าวไทย