กรุงเทพฯ 4 พ.ย. – รมว. คมนาคม ยืนยัน ขับเคลื่อนโครงการลงทุน โครงสร้างพื้นฐาน ตามนโยบายนายกรัฐมนตรี
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวถึงการเดินทางตรวจเยี่ยมกระทรวงคมนาคมของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยกระทรวงคมนาคมได้รายงานถึงแผนการลงทุนในโครงการสำคัญ ปี 2559 กระทรวงมีโครงการลงทุนเร่งด่วนตามแผนปฎิบัติการ จำนวน 20โครงการ ซึ่งขณะนี้สามารถเริ่มต้นโครงการไปแล้ว16 โครงการ และจะเร่งสานต่อโครงการในปี2560 ต่อไป ทั้งทางบก น้ำ อากาศ และราง โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการต่อเนื่อง ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีกำชับให้ดำเนินโครงการโดยยึดตามแผนแม่บทที่ได้จัดทำไว้ อาทิ แผนแม่บททางหลวง แผนเม่บทรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เพื่อให้รัฐบาลต่อไปใช้เป็นหลักปฏิบัติในอนาคต
นอกจากนี้นายกฯ ยังได้ให้คำแนะนำเรื่องการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมในระยะ 20 ปี( ปี2560 -2579) ซึ่งมีการแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ระยะละ 5ปี จำนวน 5 ยุทธศาสตร์หลัก เช่น การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่ง , การพัฒนาบุคคลการ,การพัฒนากฎหมาย ,การนำเทคโนโลยีมาใช้ โดย นายกต้องการให้เริ่มดำเนินการได้พร้อมกัน ไม่ต้องรอแบ่งเป็นระยะแรก ระยะหลัง เพื่อให้โครงข่ายคมนาคมบก น้ำ และอากาศ เชื่อมต่อกันให้ได้เร็วขึ้น
นายอาคม กล่าวว่าขณะนี้กระทรวงคมนาคมเตรียมที่จะนำเสนอแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานประเทศ พ.ศ.2560 ต่อคณะรัฐมนตรี โดยมีการบรรจุการก่อสร้างทางคู่จำนวน 9 เส้นทางไว้ด้วย ซึ่งขณะนี้ 50% ได้ ผ่านการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้ว
ทังนี้นายกรัฐมนตรีกำชับว่าต้องการให้เห็นการดำเนินการเชื่อมต่อโครงข่ายการเดินทางของทุกระบบ และต้องมีการบูรณาการงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น เรื่องของการศึกษาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมนั้นจะต้องทำงานใกล้ชิดกับกระทรวงทรัพยกรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงกระทรวงมหาดไทยที่ต้องประสานการทำงานเรื่องของการจัดผังเมือง เพื่อให้โครงการเดินหน้าได้ไม่สะดุดเกิดปัญหา
ส่วนกรณีที่นายกระบุว่าขณะนี้มีคนนอกพื้นที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการดำเนินโครงการ ทำให้บางโครงการเกิดความล่าช้า เรื่องอรกระทรวงคมนาคมจะต้องเข้าไปพูดคุยกับประชาชนให้มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาประชาชนส่วนใหญ่ก็ให้การสนับสนุนโครงการอยู่แล้ว เพราะต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นอกจากนี้ นายกได้เน้นย้ำให้มีการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานให้สอดคล้องกับโครงสร้างประชากร และวิถีชีวิตของประชาชนในอนาคต เช่น การออกแบบถนนจะต้องคำนึงถึงวิถีชีวิต สภาพ วิ่งแวดล้อม และภูมิทัศน์ชุมชนด้วย ต้องออกแบบให้กลมกลืน ไม่ควรตัดต้นไม้ทิ้งโดยอาจจะต้องปรับแนวถนนอ้อมไปทางอื่น
สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทาง กทม- นครราชสีมา นายกรัฐมนตรีได้ขอให้กระทรวงคมนาคมเร่งสร้างความรับรู้ให้กับประชาชนให้มากขึ้น ซึ่งโครงการดังกล่าวมีการแบ่งการออกสร้างออกเป็น 4 ตอน ไม่ได้หมายความว่าจะสร้างแค่บริเวณกลางดงเพียง 3.5 กม. แต่ที่เลือกสร้างจุดนี้ก่อน เนื่องจากเป็นพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)ที่ไม่ต้องเวนคืนที่ดินสามารถก่อสร้างได้เลย ซึ่งรัฐบาลจะเดินหน้าโครงการนี้ต่อไป แต่ขณะนี้ยังติดปัญหา2 เรื่องคือเรื่องการถอดแบบก่อสร้างให้เป็นไปตามมาตรฐานของไทย และการร่างสัญญา จะต้องตรงตามระเบียบการประมูลของไทย – สำนักข่าวไทย