กทม. 28 เม.ย.-แต่ละปี รวมถึงช่วงหน้าร้อน มีผู้เสียชีวิตเฉียบพลันจากการออกกำลังกายเกิดขึ้นหลายครั้ง ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากโรคหัวใจที่ยังไม่เคยตรวจพบความผิดปกติมาก่อน
นักปั่นจักรยานและนักวิ่งทางไกลวัย 41 ปี คนนี้ติดเครื่องวัดอัตราการเต้นของหัวใจที่หน้าอกก่อนการฝึกซ้อม อุปกรณ์นี้เคยช่วยชีวิตเขาเมื่อปีที่แล้ว หลังจากลงแข่งขันวิ่งระยะ 10 กิโลเมตร และเครื่องตรวจพบว่าเขามีอัตราการเต้นของหัวใจอยู่ในระดับโซน 5 ขึ้นไป และมากกว่า 180 ครั้งต่อนาที ซึ่งหากอยู่ในช่วงนี้นานๆ อาจเสี่ยงเสียชีวิตเฉียบพลัน
กลุ่มนักกีฬาและผู้ออกกำลังกายคือกลุ่มเสี่ยงจะเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันสูงกว่าคนทั่วไป เพราะการออกกำลังกายจะกระตุ้นให้หัวใจทำงานหนักขึ้น เช่น เหตุการณ์ที่นักปั่นวัย 37 ปี เสียชีวิตขณะปั่นจักรยานขึ้นเขาสูงที่แม่สอด จังหวัดตาก เมื่อปีที่แล้ว
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจและหลอดเลือดระบุว่า ขณะออกกำลังกายหัวใจจะสูบฉีดเลือดเพิ่มขึ้นกว่าปกติ ยิ่งถ้าเป็นกลางแจ้ง แดดร้อนจัด ความร้อนในร่างกายอาจเพิ่มขึ้นได้ถึง 20 เท่า แต่ละปีมีข่าวผู้ออกกำลังกายหรือนักกีฬา เช่น นักปั่นจักรยาน เสียชีวิตก่อนวัยอันควรบ่อยครั้ง เช่น เกิดขึ้นขณะปั่นจักรยาน ภายหลังปั่นจักรยาน หรือภายหลังออกกำลังแล้วนั่งพัก ทั้งผู้ที่เป็นนักกีฬาหน้าใหม่ หรือที่เชี่ยวชาญมานานแล้ว แพทย์ระบุว่าในคนที่เสียชีวิตเฉียบพลันมักพบว่าป่วยเป็นโรคหัวใจ แต่กว่าร้อยละ 90 ไม่แสดงอาการและตรวจไม่พบความผิดปกติ ผู้ป่วยบางรายมีอาการคล้ายโรคกระเพาะ เช่น จุกหน้าอก ท้องอืด และความเสี่ยงนี้ยังมีโอกาสเกิดในทุกช่วงอายุ ถ้าอายุไม่มากอาจเกิดจากพันธุกรรม หัวใจเต้นผิดปกติแต่กำเนิด กลุ่มอายุ 30 ปีขึ้นไป อาจพบภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบตัน และปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น ไขมันสูง ความดันสูง เบาหวาน สูบบุหรี่ ซึมเศร้า ซึ่งสามารถนำปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ไปประเมินโอกาสเกิดโรคหัวใจในอีก 10 ปีข้างหน้าได้
ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขตั้งแต่ปี 50-58 พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงกว่า 400,000 คน และมีผู้เสียชีวิตจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเพิ่มขึ้น โดยการเสียชีวิตกะทันหันขณะออกกำลังกาย ส่วนใหญ่ไม่มีอาการเตือน และจะอันตรายเพิ่มขึ้นกับคนที่ออกอย่างหักโหม แพทย์เตือนไม่ควรออกกำลังกายขณะที่อุณหภูมิแวดล้อมสูงเกินไป เช่น ในช่วงที่อากาศร้อนจัด.-สำนักข่าวไทย