กรุงเทพฯ, 15 ธ.ค. (ซินหัว) — เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ ทางรถไฟจีน-ไทย จะเป็นทางรถไฟจากกรุงเทพฯ มุ่งหน้าสู่จังหวัดชายแดนอย่างหนองคาย ซึ่งจะมีสะพานเชื่อมต่อกับทางรถไฟจีน-ลาว ทำให้อนาคตสามารถเดินทางโดยรถไฟจากกรุงเทพฯ ผ่านลาว ไปสู่นครคุนหมิง
ปัณรส บุญเสริม วัย 32 ปี นักแปลประจำโครงการก่อสร้างทางรถไฟจีน-ไทย เล่าเรื่องราววัยเด็กเกี่ยวกับทางรถไฟที่เชื่อมโยงบ้านของเธอในจังหวัดเชียงใหม่ กับบ้านปู่ย่าตายายในนครราชสีมา ซึ่งทำให้ครอบครัวของเธอต้องใช้เวลามากมายยามสัญจรไปมาหาสู่กันด้วยรถไฟ
ปัณรสกล่าวว่ารถไฟในไทยทำให้ผู้คนเหนื่อยล้าจากการเดินทางไกลเพราะให้บริการเชื่องช้าเกินไป และหวังว่าทางรถไฟความเร็วสูงจีน-ไทยจะเสร็จสมบูรณ์และเริ่มเปิดใช้โดยเร็วที่สุด
ทางรถไฟจีน-ไทย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของเครือข่ายทางรถไฟข้ามเอเชีย จะเป็นทางรถไฟความเร็วสูงรางมาตรฐานสายแรกของไทย โดยมีการคาดการณ์ว่าทางรถไฟฯ ระยะที่ 1 ที่เชื่อมโยงกรุงเทพฯ กับจังหวัดนครราชสีมา จะลดระยะเวลาเดินทางจากเดิมมากกว่า 4 ชั่วโมง เหลือเพียงกว่า 1 ชั่วโมงเท่านั้น
ปัณรสมีโอกาสเยี่ยมชมสถานที่หลายแห่งในจีน ขณะเดินทางไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยหนานไคในเทศบาลนครเทียนจินทางตอนเหนือของจีน และได้เห็นว่าทางรถไฟความเร็วสูงมีบทบาทยกระดับชีวิตคนในท้องถิ่น ทำให้เธอมองว่าทางรถไฟจีน-ไทยจะไม่เพียงอำนวยความสะดวกการเดินทางของผู้อยู่อาศัยในท้องถิ่น แต่ยังช่วยฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวและการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ โดยรอบ
ปัณรสกล่าวว่าปกติการเดินทางด้วยรถยนต์ระหว่างกรุงเทพฯ กับนครราชสีมา จะกินเวลาราว 2 ชั่วโมง 30 นาที แต่การสัญจรจะสะดวกสบายและประหยัดเวลาขึ้นมาก หากโครงการทางรถไฟฯ ปัจจุบันเสร็จสิ้น ทั้งเสริมว่าการคมนาคมขนส่งสำคัญต่อการท่องเที่ยวมาก และการคมนาคมขนส่งที่ดีจะทำให้ผู้คนท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้นแน่นอน
เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ ทางรถไฟจีน-ไทย จะเป็นทางรถไฟจากกรุงเทพฯ มุ่งหน้าสู่จังหวัดชายแดนอย่างหนองคาย ซึ่งจะมีสะพานเชื่อมต่อกับทางรถไฟจีน-ลาว ทำให้อนาคตสามารถเดินทางโดยรถไฟจากกรุงเทพฯ ผ่านลาว ไปสู่นครคุนหมิง มณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน
หม่าเซิ่งซวง ผู้จัดการทั่วไปของบริษัท ไชน่า เรลเวย์ ดีไซน์ คอร์เปอเรชัน (ประเทศไทย) ซึ่งรับผิดชอบโครงการทางรถไฟจีน-ไทย ระยะที่ 1 เปิดเผยว่างานก่อสร้างดำเนินไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น หลังจากไทยผ่อนปรนข้อจำกัดด้านโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)
“โครงการทางรถไฟจีน-ไทย ระยะทาง 252.3 กิโลเมตร ประยุกต์ใช้มาตรฐานทางเทคนิคของจีน โดยงานโยธาของโครงการแบ่งออกเป็น 14 สัญญา ตอนนี้เสร็จสิ้นแล้ว 1 สัญญา และกำลังเปิดประมูลอีก 3 สัญญา ขณะอีก 10 สัญญากำลังคืบหน้าไปตามลำดับ” หม่าระบุเพิ่มเติม
บรรดานักวิเคราะห์กล่าวว่าเมื่อทางรถไฟจีน-ไทย เปิดดำเนินการแล้ว ไม่เพียงแต่จะกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวทางรถไฟฯ ในไทย แต่ยังผลักดันการเชื่อมโยงเครือข่ายทางรถไฟข้ามเอเชีย และส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาค
ด้านวิโรจน์ ลับกฤชคม วัย 59 ปี วิศวกรจากบริษัทฯ กล่าวว่าทางรถไฟจีน-ไทย เป็นมากกว่าโครงสร้างพื้นฐานการเชื่อมต่อ และจะเสริมสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างประชาชน ตอนนี้ทีมงานกำลังทำงานอย่างใกล้ชิดกับเพื่อนร่วมงานชาวจีน ซึ่งได้ถ่ายทอดประสบการณ์มากมายทั้งในแง่การก่อสร้างทางรถไฟและการจัดการโครงการ-สำนักข่าวซินหัว
คลิกเพื่ออ่านข่าวภาษาอังกฤษ https://english.news.cn/20221120/fd8cea126bfa4d7bb95264c226c978d7/c.html
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง https://www.xinhuathai.com/china/326440_20221215
ขอบคุณภาพจาก Xinhua