ชุมพร 8 ส.ค. 63 – สวทช. สนับสนุนโปรแกรม ITAP นำนวัตกรรมช่วยส่งเสริมความสามารถของเกษตร จ.ชุมพร ยกระดับคุณภาพทุเรียนเกรดพรีเมี่ยม และผลไม้หลากชนิด ให้มีคุณภาพสูงได้มาตรฐานสินค้าเกษตรปลอดภัย ส่งขายห้างชั้นนำทั่วประเทศ
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือไอแทปให้การสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญแก่ผู้ประกอบการเกษตร “สวนทวีทรัพย์” จ.ชุมพร ในการพัฒนาสินค้าเกษตรด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บนพื้นที่กว่า 100 ไร่ ยกระดับคุณภาพผลไม้หลากชนิด เช่น ทุเรียน ส้มโชกุน และมังคุด โดยเฉพาะทุเรียนของสวนทวีทรัพย์ได้รับการรับรองมาตรฐาน ThaiGAP ซึ่งเป็นมาตรฐานระบบการผลิตสินค้าเกษตรที่มีความปลอดภัยของภาคเอกชน ยกระดับสินค้าและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของผู้ประกอบการ ตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ
โดยใช้นวัตกรรมการปลูกที่ปลอดภัย ไม่มีสารเคมีตกค้างในผลไม้ห่อนถึงมือผู้บริโภค ทำให้ขยายช่องทางการตลาดในสินค้าระดับพรีเมียม มียอดรับซื้อจากห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ ไฮเปอร์มาร์เก็ต โดยไม่ต้องพึ่งพาการส่งออกไปต่างประเทศเพียงอย่างเดียว ได้ราคาสูง การันตีคุณภาพทุกลูก ทำให้คนไทยได้ทานผลไม้เกรดพรีเมี่ยมในราคามิตรภาพ นอกจากนี้ ยังใช้เทคโนโลยี สนับสนุนช่องทางเพิ่มรายได้จากผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร จัดจำหน่ายผ่านตลาดออนไลน์มากขึ้น ส่งตรงผลไม้จากสวนถึงมือผู้บริโภคโดยตรง
ไอแทป ยังแนะนำการใช้นวัตกรรมแปรรูป นวัตกรรม Freeze Dried (ฟรีซดราย) หรือเทคโนโลยีการทำแห้งเยือกแข็งแบบสุญญากาศ ให้แก่ผู้ประกอบการสวนทวีทรัพย์ในการเพิ่มมูลค่าสินค้า สร้างความมั่นใจด้านคุณภาพ ความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และเพิ่มผลิตภัณฑ์ส่งจำหน่ายยังต่างประเทศ
น.ส.ชนากานต์ สันตยานนท์ ที่ปรึกษาอาวุโส โปรแกรม ITAP สวทช. กล่าวว่า ThaiGAP เป็นการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการสินค้าเกษตรและกลุ่มเกษตรกรด้านผักและผลไม้ในการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันและยกระดับมาตรฐานการผลิตสินค้าการเกษตร อาทิ มาตรฐาน ThaiGAP มาตรฐาน GLOBALG.A.P. และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ รวมถึงนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ยุคเกษตร 4.0 เพื่อเปลี่ยนเกษตรดั้งเดิมสู่เกษตรสมัยใหม่ ที่เน้นการบริหารจัดการและใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาให้ยั่งยืน
สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้ไปปรับใช้เสริมสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันได้อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีเกษตรกรไทยได้รับการสนับสนุนทางวิชาการและทางการเงิน ได้รับการรับรองมาตรฐาน ThaiGAP จำนวน 80 ราย ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ผักและผลไม้กว่า 70 ชนิด คือ เมล่อน มะละกอ มะพร้าวน้ำหอม แคนตาลูป แตงโม กล้วยหอม พริก ทุเรียน มังคุด เงาะ และมะเขือเทศ ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกร 2 ราย ที่สามารถยกระดับรายได้ทะลุ 100 ล้านบาทต่อปี หรือเพิ่มรายได้กว่า 6 เท่าตัว .-สำนักข่าวไทย