กรุงเทพฯ 8 มิ.ย.- สวทช. พัฒนาเทคโนโลยีชุดตรวจโรคใบด่างมันสำปะหลังในภาคอุตสาหกรรมเป็นผลสำเร็จ เป็นชุดตรวจแบบรวดเร็ว Strip test ซึ่งมีหลักการทำงานเหมือนชุดตรวจ ATK ทราบผลได้ภายใน 15 นาที มุ่งใช้คัดกรองท่อนพันธุ์มันสำปะหลังปลอดโรค ลดความเสี่ยงของเกษตรกรและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง
ดร.เกื้อกูล ปิยะจอมขวัญ รองผู้อำนวยการศูนย์พันธุ์วิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ไบโอเทคพัฒนาชุดตรวจโรคใบด่างมันสำปะหลังขึ้นเพื่อช่วยตรวจคัดกรองท่อนพันธุ์มันสำปะหลังปลอดโรคเพื่อช่วยลดความเสี่ยงของเกษตรกรในการนำท่อนพันธุ์ที่เป็นโรคไปปลูกต่อซึ่งถือเป็นมาตรการสำคัญที่ช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง
การพัฒนาเทคโนโลยีการตรวจคัดกรองโรคไวรัสใบด่างมันสำปะหลังนี้ดำเนินการโดยทีมวิจัยการผลิตโมโนโคลนอลแอนติบอดีและการประยุกต์ใช้นำโดย ดร.อรประไพ คชนันทน์ ดร.ชาญณรงค์ ศรีภิบาล และ ดร.แสงสูรย์ เจริญวิไลศิริซึ่งพัฒนาโมโนโคลนอลแอนติบอดีที่มีความจำเพาะเจาะจงต่อเชื้อไวรัสใบด่างมันสำปะหลังชนิด Sri Lankan cassava mosaic virus (SLCMV) และนำแอนติบอดีที่ได้มาพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยโรคใบด่างมันสำปะหลังด้วยเทคนิคอิไลซ่า (ELISA) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีความถูกต้อง แม่นยำ ขั้นตอนไม่ยุ่งยาก สามารถตรวจสอบจำนวนตัวอย่างได้คราวละมากๆ และราคาไม่แพง สามารถตรวจกรองโรคใบด่างมันสำปะหลังได้ในทุกขั้นตอนของการผลิตและเพาะปลูกมันสำปะหลัง เริ่มตั้งแต่การตรวจแปลงผลิตต้นพันธุ์ก่อนการเก็บเกี่ยว รวมถึงการตรวจในส่วนขยายพันธุ์ เช่น ministem cutting หรือ tissue culture เพื่อลดความเสี่ยงในการนำต้นพันธุ์ติดเชื้อไปปลูกต่อ นอกจากนี้ยังใช้ในการติดตามเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคหลังการเพาะปลูก เพื่อจัดการควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงทีรวมทั้งยังใช้ในงานศึกษาวิจัยพื้นฐานด้านต่าง ๆ อีกด้วย
ชุดตรวจที่พัฒนาขึ้นเป็นชุดตรวจแบบรวดเร็ว Strip test สำหรับการตรวจวินิจฉัยโรคใบด่างมันสำปะหลัง ซึ่งมีหลักการทำงานเหมือนชุดตรวจ ATK ทราบผลได้ภายใน 15 นาที โดยไม่ต้องอาศัยผู้ชำนาญการและเครื่องมือในการอ่านผล สามารถพกพาไปใช้ในภาคสนามได้ โดยไม่ต้องเก็บตัวอย่างส่งมาตรวจยังห้องปฏิบัติการ และมีความแม่นยำความจำเพาะเจาะจง ความไว ใกล้เคียงกับชุดตรวจอิไลซ่าที่พัฒนาขึ้นก่อนหน้านี้ และเมื่อเปรียบเทียบกับวิธีมาตรฐาน PCR พบว่า มีความแม่นยำร้อยละ 95 ความจำเพาะเจาะจงร้อยละ 100 และความไวร้อยละ 89 สำหรับชุดตรวจ Strip test ใช้งานง่ายเพียง 3 ขั้นตอน 1. นำใบพืชมาบดในบัพเฟอร์ที่เตรียมไว้ให้ 2. จุ่มตัว Strip test ลงไปในน้ำคั้นใบพืชที่บดได้ และ 3. อ่านผลจากแถบสีที่เกิดขึ้น หากขึ้น 2 ขีด ณ ตำแหน่ง C และ T แสดงว่าตัวอย่างติดโรคใบด่างมันสำปะหลัง หากขึ้น 1 ขีด ณ ตำแหน่ง C แสดงว่าตัวอย่างไม่ติดโรค ซึ่งได้ผลิตต้นแบบชุดตรวจ Strip test และเตรียมนำชุดตรวจไปทดสอบการใช้งานจริงกับเครือข่ายภาครัฐและเอกชน โดยได้มีการจัดฝึกอบรมเรื่อง “การตรวจวินิจฉัยเชื้อ Sri Lankan cassava mosaic virus ในตัวอย่างมันสำปะหลังด้วยชุดตรวจแบบรวดเร็วในรูปแบบ strip test” และส่งมอบชุดตรวจที่พัฒนาขึ้นให้หน่วยงานต่าง ๆ ไปใช้ประโยชน์ในการตรวจโรคใบด่างมันสำปะหลังแล้ว
สำหรับการผลักดันให้เกิดการนำชุดตรวจไปใช้ประโยชน์ เป็นการอาศัยความร่วมมือระหว่าง สวทช. กับหน่วยงานที่สนใจนำนวัตกรรมไปใช้จริง โดยกระบวนการผลักดันเริ่มต้นจาก การจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อสร้างทักษะและความสามารถในการตรวจโรคใบด่างด้วยเทคนิคอิไลซ่าให้เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานรัฐและเอกชนที่สนใจ จากนั้น สวทช. จะเป็นผู้ให้การสนับสนุนในการจัดตั้งห้องปฏิบัติการ รวมถึงส่งมอบชุดตรวจอิไลซ่า และเครื่องอ่านผล WellScan ให้กับหน่วยงานที่มีความพร้อม โดยปัจจุบันมีการจัดตั้งห้องปฏิบัติการแล้ว 5 แห่ง คือ บริษัท สงวนวงษ์อุตสาหกรรม จำกัด จ. นครราชสีมา บริษัท เอฟ ดี กรีน ในเครือบริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด จ. กำแพงเพชร สำนักงานสภาเกษตรกร จ. นครราชสีมา บริษัท เอเซียโมดิไฟด์สตาร์ช จำกัด จ. กาฬสินธุ์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน จ. นครราชสีมา โดยหลังจากการจัดตั้งห้องปฏิบัติการ ทีมวิจัยจะทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษา คำแนะนำเชิงเทคนิคต่าง ๆ เพื่อให้หน่วยงานที่รับถ่ายทอด สามารถนำเทคโนโลยีชุดตรวจไปใช้ในการตรวจสอบโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้มันสำปะหลังเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญของประเทศ โดยประเทศไทยมีการส่งออกมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลังมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก สร้างรายได้เข้าประเทศ เฉลี่ย หนึ่งแสนล้านบาทต่อปี ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสชนิด SLCMV เป็นโรคอุบัติใหม่ โดยมีแมลงหวี่ขาวเป็นพาหะนำโรคที่เกิดการระบาดในพื้นที่การเพาะปลูกหลาย ๆ จังหวัดของประเทศไทย เนื่องด้วยมันสำปะหลังเป็นพืชที่ขยายพันธุ์โดยใช้ท่อนพันธุ์ ปัจจัยหลักที่ทำให้โรคใบด่างมันสำปะหลังมีการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วและเป็นบริเวณกว้างขวาง คือการนำท่อนพันธุ์ที่ได้จากต้นที่เป็นโรคไปทำการปลูกขยายต่อ โดยจะพบว่าพืชที่เป็นโรคจะมีอาการใบด่าง ใบหงิก ลำต้นแคระแกร็น ให้ผลผลิตที่ลดลง หรือในกรณีที่มีการระบาดรุนแรงก็อาจจะเก็บเกี่ยวผลผลิตไม่ได้เลย ผลที่ตามมาคือ ท่อนพันธุ์ที่ติดโรคใบด่าง ไม่สามารถนำไปใช้ขยายพันธุ์ได้อีก ซึ่งอาจจะทำให้ไม่มี/ขาดแคลนท่อนพันธุ์มันสำปะหลังสะอาดใช้ปลูกในรอบปีถัดไปได้ ดังนั้นโรคใบด่างมันสำปะหลังจึงนับเป็นโรคที่ก่อความเสียหายให้แก่เกษตรกร และอุตสาหกรรมแปรรูปมันสำปะหลังเป็นอย่างมาก
ดังนั้น การควบคุมโรคใบด่างมันสำปะหลังจึงต้องทำแบบครอบคลุมพื้นที่ มีเป้าหมายในการตัดวงจรการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้พันธุ์สะอาดและทนทาน ต่อโรค ควบคุมไม่ให้การระบาดของโรคขยายตัวไปยังพื้นที่อื่น ๆ .-สำนักข่าวไทย