ฉะเชิงเทรา 3 ส.ค.63 – สวทช. ร่วมกับ มูลนิธิชัยพัฒนา พัฒนาองค์ความรู้การเพาะลี้ยง และชุดตรวจโรคกุ้ง ให้เกษตรกรตรวจสอบคุณภาพดินและน้ำ ได้อย่างรวดเร็ว ป้องกันกุ้งติดเชื้อโรคจนเกิดความสูญเสียยกบ่อได้ทันที
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศูนย์พันธุ์วิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ร่วมกับ มูลนิธิชัยพัฒนา นำองค์ความรู้และเทคโนโลยีต่าง ๆ จากการวิจัยและพัฒนามาทดลองใช้งานในโครงการฟาร์มทดสอบและสาธิตมีนเกษตร “สองน้ำ” มูลนิธิชัยพัฒนา จ. ฉะเชิงเทรา เป็นต้นแบบระบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เพื่อขยายผลให้เกษตรกร นำไปประยุกต์ใช้สนับสนุนอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์น้ำของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน
ดร.กัลยาณ์ แดงติ๊บ หัวหน้าทีมวิจัยสุขภาพสัตว์น้ำ ไบโอเทค กล่าวว่า โรคที่พบเจอได้บ่อยของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง คือ โรคตัวแดงดวงขาว โรคหัวเหลือง โรคตายด่วน โรคจากการติดเชื้อในกลุ่มแบคทีเรียวิบริโอ สร้างความเสียหายให้เกษตรกรอย่างมาก รุนแรงถึงขั้นตายยกบ่อ ซึ่งหากเกษตรกรมีชุดตรวจหาโรคที่เป็นอันตรายกับกุ้งได้รวดเร็ว ก็จะลดความสูญเสียเช่นนี้ลงได้
ไบโอเทค จึงได้พัฒนาชุดตรวจหาเชื้อก่อโรคในกุ้ง จากแบคทีรีย และไวรัส โดยมีวิธีการตรวจ 2 วิธี คือ ตรวจด้วยเนื้อเยื่อจากเหงือกของกุ้ง ทำมาผ่านขั้นตอน และทดสอบลงบนชุดตรวจคล้ายแผ่นตรวจครรภ์ หากปรากฎแทบ 2 ขีด แสดงว่ากุ้งมีการติดเชื้อก่อโรค หรือใช้วิธีการตรวจสอบคุณภาพดิน และน้ำ
เมื่อผ่านกระบวนการตรวจสอบแล้วระบบจะส่งผลการตรวจวิเคราะห์เข้าถึงเกษตรกรผ่านแอพพลิเคชั่น ซึ่งทั้ง 2 วิธีการใช้เวลานานไม่กี่ชั่วโมงก็สามารถทราบผลตรวจ ทำให้เกษตรกรดำเนินการแก้ไขจัดการปรับปรุงคุณภาพน้ำหรือดินในบ่อให้เหมาะสม ลดการสูญเสียจำนวนกุ้งในบ่อได้ทันที ซึ่งต่างจากวิธีรูปแบบเก่าที่จะได้ผลตรวจข้ามวันอาจไม่ทันในการรักษากุ้งในบ่อให้รอดได้ นวัตกรรมชุดตรวจโรคนี้จึงเป็นอุปกรณ์ที่เพิ่มความสามารถในการเพาะเลี้ยงกุ้งให้เท่าทันโรค กุ้งมีอัตราการตายจากโรคลดลง ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ และมีรายได้ที่มั่นคงมากขึ้น
ด้าน เนคเทค ได้พัฒนาระบบตรวจวัดคุณภาพน้ำอัตโนมัติ สามารถตรวจวัดค่าออกซิเจนที่ละลายในน้ำ (DO) อุณหภูมิ ความชื้น ค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) รวมถึงมีสถานีวัดอากาศที่ใช้วัดความเร็วลม ทิศทางลม ปริมาณน้ำฝน และปริมาณแสง เพื่อที่จะนำข้อมูลมาวิเคราะห์ โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกส่งผ่านทางเครือข่ายมือถือ
ผู้ใช้สามารถดูข้อมูลผ่านเว็บแอปพลิเคชัน โดยระบบสามารถสรุปข้อมูลรายวันให้ผู้ใช้ทราบสภาพน้ำในบ่อ ผ่านทางไลน์แอปพลิเคชัน ซึ่งจะเป็นต้นแบบเครื่องมือตรวจเฝ้าระวังโรคระบาดในกุ้งสำหรับเกษตรกรด้วย
ทั้งนี้องค์ความรู้และเทคโนโลยีจากการศึกษาวิจัยในโครงการ ทั้งด้านเทคนิคการเลี้ยง และการจัดการฟาร์มเพื่อให้ได้ผลผลิตสูงขึ้นและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจะได้รับการถ่ายทอด และเผยแพร่ให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทั่วประเทศ ซึ่งโครงการฟาร์มทดสอบและสาธิตมีนเกษตร “สองน้ำ” มูลนิธิชัยพัฒนา เป็นอีกหนึ่งกลไกที่ช่วยยกระดับอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้ง มีประสิทธิภาพการเลี้ยงและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า ทำให้ผลผลิตมีคุณภาพ ยกระดับความเป็นอยู่ และคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้ดีขึ้น ขณะที่ผู้บริโภคได้อาหารคุณภาพสูง และปลอดภัย เป็นความมั่นคงทางอาหารของประเทศ .-สำนักข่าวไทย