เผยวัคซีนของจีนมีประสิทธิภาพป้องกันสายพันธุ์เดลตาน้อย
ปักกิ่ง 25 มิ.ย. – นักวิจัยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของจีนเผยว่า แอนติบอดีที่ได้รับการกระตุ้นโดยวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 สองขนานของจีนมีประสิทธิภาพป้องกันเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาน้อยกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ แต่ยังคงมีประสิทธิภาพป้องกันอยู่ นายเฝิง จื่อเจี้ยน นักวิจัยและอดีตรองผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคของจีน ให้สัมภาษณ์กับสถานีวิทยุโทรทัศน์กลางแห่งจีน หรือซีซีทีวี เมื่อช่วงค่ำวานนี้ตามเวลาท้องถิ่นว่า วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 สองขนานของจีนจัดเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย ซึ่งเกิดขึ้นจากเชื้อไวรัสที่ถูกทำให้ตายแล้วและแบ่งตัวในเซลล์มนุษย์ไม่ได้ อย่างไรก็ดี นายเฝิงไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว และไม่ได้เอ่ยชื่อวัคซีนสองขนานของจีนที่เขากล่าวถึง เขากล่าวทิ้งท้ายว่า จากการระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาในมณฑลกวางตุ้ง ไม่พบผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิดมีอาการป่วยรุนแรง และผู้ที่มีอาการป่วยรุนแรงก็เป็นผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด จีนได้พัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ขึ้นมาทั้งหมด 7 ขนาน ในจำนวนนี้ มีวัคซีน 5 ขนานที่เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตายและได้รับการนำมาใช้ในโครงการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งรวมถึงวัคซีนของซิโนแวก ไบโอเทค และซิโนฟาร์มที่ได้รับการนำไปใช้ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เช่น บราซิล บาห์เรน และชิลี ขณะที่เจ้าหน้าที่ของจีนเผยว่า พบการระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาใน 3 เมืองของมณฑลกวางตุ้งทางตอนใต้ของจีน ซึ่งพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ดังกล่าวในชุมชนทั้งหมด 170 คนนับตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค.-21 มิ.ย. ที่ผ่านมา […]