27 เมษายน 2565
ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย: Full Fact (สหราชอาณาจักร)
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: พีรพล อนุตรโสตถิ์, อดิศร สุขสมอรรถ
ประเภทข่าวปลอม: ข้อมูลเท็จ
บทสรุป:
1.เป็นความผิดพลาดของสถานีข่าว Nine Network ที่นำภาพยา Ivermectin มาประกอบข่าวการรักษาโควิด 19 ของพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 อย่างไม่ถูกต้อง
- WHO ไม่แนะนำให้ใช้ยา Ivermectin เพื่อป้องกันหรือรักษาผู้ป่วยโควิด 19
ข้อมูลที่ถูกแชร์:
มีข้อมูลเท็จเผยแพร่ทาง Facebook ในสหราชอาณาจักรและประเทศออสเตรเลีย โดยอ้างว่าสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ได้รับการรักษาพระอาการประชวรจากการติดเชื้อโควิด 19 ด้วยยาฆ่าพยาธิ Ivermectin
FACT CHECK: ตรวจสอบข้อเท็จจริง:
คลิปวิดีโอที่ถูกกล่าวอ้าง เป็นรายงานข่าวในรายการ A Current Affair ของ Nine Network สถานีโทรทัศน์ในประเทศออสเตรเลีย ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ปี 2022 โดยทางรายการได้ ดร.มูเคช ไฮเคอร์วาล แพทย์ชาวออสเตรเลีย มาอธิบายแนวทางการรักษาผู้สูงอายุที่ติดเชื้อโควิด 19
โดยผู้ประกาศข่าวรายงานว่า ผู้สูงอายุจะได้รับประโยชน์จากตัวยาชนิดใหม่ ที่เพิ่งผ่านการรับรองให้ใช้กับผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่รักษาตัวในโรงพยาบาลของออสเตรเลีย
อย่างไรก็ดี ภาพยา 2 ชนิดที่นำมาประกอบข่าวได้แก่ยา Sotrovimab ยาที่เพิ่งผ่านการรับรองให้ใช้รักษาผู้ป่วยโควิด 19 และ Stromectol ยี่ห้อของยาฆ่าพยาธิ Ivermectin
แถลงการณ์ของ Nine Network ชี้แจงว่า การนำภาพยา Ivermectin มาประกอบรายงานข่าวเป็นความผิดพลาดของทีมงาน ทางสถานีไม่มีเจตนานำภาพยา Ivermectin มาอยู่ในรายงานข่าวแต่อย่างใด และตัดสินใจลบคลิปวิดีโอรายการดังกล่าวออกไปจากเว็บไซต์ของสถานีเรียบร้อยแล้ว โดยโฆษกของ Nine Network ได้ขออภัยไปยัง ดร.มูเคช ไฮเคอร์วาล ต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้น และย้ำว่าไม่มีเจตนาจะสื่อว่าพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 รักษาอาการป่วยจากโควิด 19 ด้วยยา Ivermectin
ดร.มูเคช ไฮเคอร์วาล ชี้แจงต่อสำนักข่าว Guardian ว่า ในบทสนทนาที่เกิดขึ้นในรายการ เป็นการแนะนำยาชนิดใหม่เพื่อรักษาผู้ติดเชื้อกลุ่มเสี่ยง และไม่มีการกล่าวถึงยา Ivermectin แม้แต่น้อย ซึ่งเขายืนยันว่าจะไม่แนะนำให้ใช้ยา Ivermectin รักษาผู้ป่วยโควิด 19 อย่างแน่นอน
เมื่อวันที่ 14 มกราคม ปี 2022 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศรับรองการใช้ยารักษาผู้ป่วยโควิด 19 เพิ่มอีก 2 ชนิด ได้แก่ Baricitinib ยารักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยโควิด 19 ที่มีอาการรุนแรงถึงขั้นวิกฤต
ส่วนยาอีกชนิดที่ผ่านการรับรองคือ Sotrovimab เป็นยาชนิด Monoclonal Antibody เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยโควิด 19 ที่มีอาการเบาถึงปานกลาง ใช้สำหรับผู้สูงอายุ, ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ, ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน, ความดันโลหิตสูง, โรคอ้วน และผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน โดยต้องรับยาหลังมีอาการในเวลา 5 วัน โดยให้ยาผ่านทางเลือดเลือดดำ โดยผลการทดลองเบื้องต้นพบว่า ยา Sotrovimab สามารถรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด 19 สายพันธุ์โอไมครอนได้อย่างดี
มีการเปิดเผยว่าสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ติดเชื้อโควิด 19 เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ปี 2022 แม้จะไม่ระบุแนวทางการรักษา และมีการยืนยันว่าอาการของพระองค์ไม่รุนแรง
กระแสการใช้ยาฆ่าพยาธิ Ivermectin รักษาผู้ป่วยโควิด 19 กลายเป็นประเด็นถกเถียงไปทั่วโลกตั้งแต่ปี 2021 ที่ผ่านมา โดยผลวิจัยชิ้นล่าสุดที่เผยแพร่ผ่านทางวารสาร JAMA Internal Medicine ระบุว่าการใช้ยา Ivermectin รักษาผู้ป่วยโควิด 19 ระยะเริ่มต้น ไม่ช่วยยับยั้งการป่วยหนักของผู้ติดเชื้อได้
โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การยาของสหภาพยุโรป (EMA) ต่างไม่แนะนำให้ใช้ยา Ivermectin เพื่อป้องกันหรือรักษาผู้ป่วยโควิด 19 นอกเหนือไปจากการวิจัยทางคลินิก
ข้อมูลอ้างอิง:
https://fullfact.org/health/queen-elizabeth-covid-ivermectin/
- หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
- LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
- FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
- Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
- IG :: https://instagram.com/SureAndShare
- Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
- TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter