ชัวร์ก่อนแชร์: ผลวิจัยบราซิลชี้ Ivermectin ลดป่วย-ตายโควิดได้ถึงครึ่ง จริงหรือ?

21 มีนาคม 2565
ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย: Science Feedback (สหรัฐอเมริกา)
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: พีรพล อนุตรโสตถิ์, อดิศร สุขสมอรรถ


ประเภทข่าวปลอม: ทำให้เข้าใจผิด

บทสรุป:


  1. เป็นผลจากงานวิจัยที่เต็มไปด้วยข้อบกพร่องและผู้วิจัยมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับบริษัทผู้ผลิตยา Ivermectin
  2. ปัจจุบัน WHO ไม่แนะนำให้ใช้ Ivermectin รักษาผู้ป่วยโควิด 19 ยกเว้นในการทดลอง

ข้อมูลที่ถูกแชร์:

มีข้อมูลบิดเบือนเผยแพร่ทางเว็บไซต์ในสหรัฐอเมริกา โดยเว็บไซต์ต่อต้านวัคซีนทั้ง Gateway Pundit, Zero Hedge และ The Blaze ต่างนำเสนอข้อมูลว่า นักวิจัยในประเทศบราซิลพบว่ายาฆ่าพยาธิชนิด Ivermectin มีประสิทธิผลในการลดการติดเชื้อ, ป่วยหนัก และเสียชีวิตจากโควิด 19 ได้อย่างมาก จนมีการแชร์ข้อความผ่านทาง Facebook กว่า 5,300 ครั้ง

FACT CHECK: ตรวจสอบข้อเท็จจริง:


จากการตรวจสอบของ Science Feedback พบว่างานวิจัยที่กล่าวอ้างเป็นผลงานก่อนการตีพิมพ์ (Preprint) ซึ่งยังไม่ผ่านการพิชญพิจารณ์ (Peer Review ) หรือการประเมินความถูกต้องโดยผู้เชี่ยวชาญในแวดวงวิชาการ

ทีมวิจัยศึกษาผลการรักษาของ Ivermectin ที่มีต่ออัตราการติดเชื้อ, รักษาตัวในโรงพยาบาล และการเสียชีวิตจากโควิด 19 ในเมืองอิตาไชอิ ประเทศบราซิล ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงธันวาคมปี 2020 โดยกลุ่มตัวอย่างแบ่งเป็นกลุ่มผู้ใช้ Ivermectin รักษาโควิด 19 จำนวน 133,000 คนและกลุ่มผู้ไม่ใช้ Ivermectin รักษาโควิด 19 จำนวน 87,000 คน

แต่ปัญหาของงานวิจัยคือไม่มีการกำหนดตัวแปรกวน (Confounding factors) เช่นอาชีพและรายได้ของกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้โอกาสการติดเชื้อของกลุ่มตัวอย่างไม่เท่ากัน และอาจทำให้ผลวิจัยไม่ตรงกับความเป็นจริง

อีกปัญหาสำคัญของงานวิจัยชิ้นนี้คือ ไม่มีการติดตามกลุ่มผู้ใช้ Ivermectin ว่าใช้ยาตรงกับปริมาณที่แนะนำและใช้ในระยะเวลาที่เหมาะสมหรือไม่ จึงไม่อาจรู้ได้ว่าผลจากการรักษาเป็นเพราะการใช้ Ivermectin หรือเพราะปัจจัยอื่น นำไปสู่คำถามว่า หากมีการวิเคราะห์ซ้ำโดยแยกกลุ่มผู้ใช้ Ivermectin อย่างไม่ถูกต้องออกไป การรักษาด้วย Ivermectin จะให้ผลดีเหมือนเดิมหรือเปล่า

นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังยอมรับในบทอภิปรายผล (Discussion) ว่าการที่กลุ่มตัวอย่างมีจำนวนมาก จึงไม่อาจรู้ได้ว่ากลุ่มผู้ใช้ Ivermectin ใช้ยาอย่างสม่ำเสมอ, ใช้ในปริมาณที่ถูกต้อง, และใช้ในช่วงเวลาที่ถูกต้องหรือไม่ แต่ทีมวิจัยก็ยังสรุปว่าความไม่สมบูรณ์ของการศึกษา อาจสะท้อนประโยชน์ของการใช้ Ivermectin ต่ำกว่าความเป็นจริง ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้ว ความไม่สมบูรณ์ของการวิจัยอาจบดบังข้อเสียหรือแม้แต่อันตรายจากการใช้ Ivermectin รักษาผู้ติดเชื้อโควิด 19 ได้เช่นเดียวกัน

ความไม่สมบูรณ์ของงานวิจัยชิ้นนี้ ทำให้ กีเดียน เมเยอโรวิทช์ แคทซ์ นักวิทยาการระบาดชาวออสเตรเลีย วิจารณ์ว่าเป็นการวิจัยที่เต็มไปด้วยข้อบกพร่อง และไม่ให้ข้อมูลที่มีประโยชน์ใดๆ เกี่ยวกับการใช้ Ivermectin รักษาผู้ป่วยโควิด 19

ข้อมูลทางสถิติยังพบว่า เมืองอิตาไชอิที่ทีมวิจัยทำการศึกษา เป็นหนึ่งในเมืองที่มีอัตราการเสียชีวิตจากโควิด 19 สูงที่สุดในรัฐซานตา คาตาริน่าของบราซิล จึงเป็นที่สงสัยว่าการใช้ Ivermectin รักษาผู้ป่วยโควิด 19 ได้ผลจริงหรือไม่

ยังมีการเปิดเผยข้อมูลว่า ฟลาวิโอ คาเดเจียนี และ ฮวน ชามี 2 นักวิจัยที่ร่วมในการศึกษาครั้งนี้ เป็นสมาชิกของ Front Line COVID-19 Critical Care Alliance (FLCCC) ซึ่งมีผู้นำกลุ่มคือ ปีแอร์ โครี และ พอล มาริค แพทย์ที่ถูกจับตาจากการโฆษณาชวนเชื่อเรื่องการรักษาโควิด 19 ด้วยยา Ivermectin

British Medical Journal ยังรายงานว่า ฟลาวิโอ คาเดเจียนี เป็นผู้วิจัยหลักในการวิจัยทางคลินิกที่ถูกสภาการสาธารณสุขแห่งชาติบราซิลสอบสวนในข้อหาละเมิดจรรยาบรรณทางการแพทย์และละเมิดสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ยังพบว่างานวิจัยของเขามีผลประโยชน์ทับซ้อนทางธุรกิจกับบริษัทผู้ผลิตยา Ivermectin อีกด้วย

แดเนียล กริฟฟิน แพทย์และนักวิจัยด้านโรคติดเชื้อ มหาวิทยาลัย Columbia University ย้ำเตือนว่า การเผยแพร่ความเข้าใจผิดว่า Ivermectin คือยาวิเศษสำหรับผู้ป่วยโควิด 19 ส่งผลให้ผู้คนปฎิเสธการฉีดวัคซีนและเกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับความปลอดภัยของการใช้ยา นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่ใช้ยา Ivermectin รักษาตัวอยู่กับบ้าน ส่งผลให้การรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นไปอย่างล่าช้า และพลาดโอกาสเข้ารับการรักษาด้วยตัวยาที่ผ่านการรับรอง ในช่วงเวลาที่สำคัญต่อการรักษามากที่สุด

กระแสการใช้ยาฆ่าพยาธิ Ivermectin รักษาผู้ป่วยโควิด 19 เริ่มขึ้นเมื่อผลการทดลองในหลอดทดลองและการทดลองในตัวแฮมเตอร์เมื่อปี 2020 พบว่า Ivermectin อาจมีประโยชน์ในการยับยั้งไวรัสโควิด 19 นำไปสู่การวิจัย Ivermectin กับโควิด 19 อย่างแพร่หลาย

ปัจจุบัน องค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA) ยังไม่แนะนำให้ใช้ Ivermectin รักษาผู้ป่วยโควิด 19 ยกเว้นในการทดลอง ซึ่งผลการศึกษาในปัจจุบันไม่พบว่า Ivermectin มีประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยโควิด 19

แม้จะมีงานวิจัยบางชิ้นชูประโยชน์ของการใช้ Ivermectin รักษาผู้ป่วยโควิด 19 แต่รายงานของสำนักข่าว BBC เมื่อเดือนตุลาคมปี 2021 พบว่ามากกว่า 1 ใน 3 ของงานวิจัยเรื่อง Ivermectin กับโควิด 19 เต็มไปด้วยข้อบกพร่องในกระบวนการวิจัยที่ร้ายแรงและส่อการกระทำที่ทุจริต

สอดคล้องกับการตรวจสอบของผู้เชี่ยวชาญจาก WHO ที่พบว่างานวิจัยเรื่อง Ivermectin กับโควิด 19 จำนวน 16 ชิ้น เป็นงานวิจัยที่ใช้การทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (Randomized Controlled Trials) ซึ่งมีความน่าเชื่อถือสูง แต่พบว่ามีงานวิจัยเพียง 5 ชิ้นที่เปรียบเทียบการรักษาด้วย Ivermectin กับการรักษาที่เป็นมาตรฐานโดยตรง และ 2 จาก 5 งานวิจัยดังกล่าวมีความลำเอียงในการจัดกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญชี้แจงว่าเมื่อนำเนื้อหาส่วนที่สงสัยว่ามีความลำเอียงออกไป ประโยชน์ของ Ivermectin ในการรักษาผู้ป่วยโควิด 19 ในงานวิจัยเหล่านั้นก็หมดไปทันที

ข้อมูลอ้างอิง:

https://healthfeedback.org/claimreview/ivermectin-study-itajai-contains-methodological-weaknesses-questionable-conclusions/

ดูข่าวเพิ่มเติม

หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare

สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter

หมายเหตุ : โฆษณาที่ปรากฏอยู่บนหน้าเว็บไซต์นี้ แสดงผลโดยอัตโนมัติจากบริษัทผู้ให้บริการโฆษณา ไม่ใช่การสนับสนุนหรือส่งเสริมจากศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์แต่อย่างใด

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

คนขับแท็กซี่ตายคารถ กว่าจะรู้ผ่านไปหลายชม.

รถแท็กซี่จอดอยู่ป้ายรถเมล์ตั้งแต่เที่ยงจนถึงเย็น มีผู้โดยสารขึ้นรถ แล้วก็ลงมา แถมถูกบีบแตรไล่ จนพ่อค้าขายข้าวโพดต้มเข้าไปเรียกพบคนขับนอนคอพับเสียชีวิต

ถอนตัวWHO

“ทรัมป์” ลงนามในคำสั่งให้สหรัฐถอนตัวจากการเป็นสมาชิกอนามัยโลก

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐกล่าววานนี้ว่า สหรัฐจะออกจากการเป็นสมาชิกองค์การอนามัยโลก โดยเขาระบุว่า องค์การอนามัยโลกดำเนินการผิดพลาดในการรับมือกับโรคโควิด-19

พิตบูลขย้ำหัวพระ

“อเมริกันบูลลี่” ขย้ำหัวพระ-กัดข้อมือหาย มรณภาพคากุฏิ

สลด! หลวงพี่ เลขาเจ้าอาวาสวัด เลี้ยงอเมริกันบูลลี่ไว้ตั้งแต่เป็นลูกสุนัข ผ่านไปปีกว่า ถูกขย้ำหัวมรณภาพคากุฏิ ข้อมือขาดหายไป ยังหาไม่พบ

ข่าวแนะนำ

หนุ่มอุดรฯ ดวงเฮง ถูกลอตเตอรี่เกาหลีใต้ 45 ล้านบาท

สุดเฮง! หนุ่มอุดรฯ ถูกลอตเตอรี่เกาหลีใต้ รับเงินรางวัล 45 ล้านบาท ลูกสาวเผยพ่อเป็นคนชอบทำบุญ ก่อนหน้านี้เพิ่งโทรมาบอกให้ใส่บาตร เชื่อผลบุญหนุนโชคลาภ

สามีภรรยาจากอยุธยารับ “เจ้าจอร์จ” ไปดูแล

สามีภรรยาใจบุญจาก จ.พระนครศรีอยุธยา ขอรับ “เจ้าจอร์จ” สุนัขพันธุ์อเมริกันบูลลี่ ไปอุปการะแล้ว หลังกัดแทะร่างพระเจ้าของที่มรณภาพในกุฏิด้วยโรคประจำตัว

ดีเอสไออนุมัติสืบสวนคดีแตงโม คาดตั้งชุดเริ่มสืบได้ 27 ม.ค.นี้

อธิบดีดีเอสไอ อนุมัติให้สืบสวนคดีแตงโม ว่ามีการบิดเบือนกระบวนการยุติธรรมทางอาญาหรือไม่ และมีบุคคลหรือเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องหรือไม่ คาดเริ่มได้ 27 ม.ค.นี้