17 มกราคม 2564
ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย: Factcheck.org (สหรัฐอเมริกา)
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: พีรพล อนุตรโสตถิ์, อดิศร สุขสมอรรถ
ประเภทข่าวปลอม: ทำให้เข้าใจผิด
บทสรุป:
- โครงสร้างทางเคมีและน้ำหนักโมเลกุลของยา Ivermectin แตกต่างจากยาต้านไวรัสของ Pfizer และ Merck
- แม้การทดลองจะพบว่า Ivermectin สามารถยับยั้งไวรัสได้ แต่ปริมาณที่ใช้ก็สูงกว่าจะสามารถใช้ในมนุษย์ได้
ข้อมูลที่ถูกแชร์:
มีข้อมูลบิดเบือนเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ในสหรัฐอเมริกา โดยอ้างว่ายาต้านไวรัสโควิด 19 ที่ผลิตโดยบริษัท Pfizer และ Merck มีคุณสมบัติคล้ายยา Ivermectin เนื่องจากใช้วิธีการยับยั้งเอนไซม์โปรติเอส (Protease Inhibitors) แบบเดียวกัน
FACT CHECK: ตรวจสอบข้อเท็จจริง:
ในช่วงเดือนกันยายนและตุลาคมที่ผ่านมา บริษัท Pfizer และ Merck ได้รายงานความสำเร็จด้านการทดลองยาต้านไวรัสโควิด 19 โดยยาต้านไวรัสของ Pfizer ที่มีชื่อว่า PF-07321332 ใช้วิธีการ Protease Inhibitors หรือการยับยั้งเอนไซม์โปรติเอส โดยทำหน้าที่ยับยั้งเอนไซม์ตัวหลักที่ไวรัส SARS-CoV-2 ใช้ในการแบ่งตัว ส่วน Molnupiravir ของ Merck ใช้เทคนิกที่เรียกว่า Lethal Mutagenesis ซึ่งเป็นการแทรกแซงการแบ่งตัวของไวรัส ทำให้การแบ่งตัวเกิดการผิดพลาดจนไวรัสไม่สามารถมีชีวิตรอดหรือแพร่พันธุ์ต่อไปได้
ส่วนยา Ivermectin ซึ่งจัดจำหน่ายโดยบริษัท Merck ในชื่อ Stromectol เป็นยาที่ผ่านการรับรองโดยองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA) เพื่อการรักษาโรคที่เกิดจากพยาธิตัวกลมหรือพยาธิตาบอดในมนุษย์ ซึ่งตัวยาจะกำจัดพยาธิด้วยการแทรกแซงการทำงานของเซลล์ตัวรับของพยาธิ
ผลวิจัยของนักวิทยาศาสตร์จากประเทศออสเตรเลียพบว่ายา Ivermectin สามารถยับยังการแบ่งตัวของไวรัส SARS-CoV-2 กับเซลล์ที่เพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ นำไปสู่ความเชื่อว่ายา Ivermectin สามารถรักษาผู้ป่วยโควิดได้ และการเป็นยาที่ราคาถูกและใช้กับมนุษย์ได้อย่างปลอดภัย ทำให้ยา Ivermectin ถูกนำไปรักษาผู้ป่วยโควิด 19 ในหลายประเทศ
อย่างไรก็ดี การอ้างว่ายา Ivermectin มีคุณสมบัติเหมือนกับยาต้านไวรัสโควิด 19 ของ Pfizer และ Merck หรือใช้วิธีการยับยั้งเอนไซม์โปรติเอสของไวรัสโควิด 19 เหมือนกัน ล้วนเป็นการกล่าวอ้างที่ไม่ถูกต้อง
ข้อมูลจาก PubChem ฐานข้อมูลด้านโมเลกุลเคมีของสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NIH) พบว่าโครงสร้างทางเคมีของยา Ivermectin ประกอบไปด้วยอะตอมของธาตุเพียง 3 ชนิดคือคาร์บอน, ไฮโดรเจน และออกซิเจน ส่วนโครงสร้างทางเคมีของยาต้านไวรัสโควิด 19 ของ Pfizer ยังมีทั้งคลอรีน, ไนโตรเจน และซัลเฟอร์ ส่วนยา Molnupiravir ของ Merck ก็มีส่วนประกอบของไนโตรเจนเช่นกัน
นอกจากนี้น้ำหนักโมเลกุลของยา Ivermectin ยังมากกว่ายาต้านไวรัสโควิด 19 ของ Pfizer และ Merck ถึง 2 เท่า ตามโครงสร้างแล้วยาทั้ง 2 ชนิดจึงไม่มีความคล้ายคลึงกันตามที่กล่าวอ้าง
ส่วนการอ้างว่ายา Ivermectin มีคุณสมบัติคล้ายยาต้านไวรัสโควิด 19 ของ Pfizer เพราะใช้วิธีการยับยั้งเอนไซม์โปรติเอส (Protease Inhibitors) แบบเดียวกันก็เป็นการกล่าวอ้างที่ไม่ถูกต้องเช่นกัน
โฆษกของบริษัท Pfizer ชี้แจงว่าวิธีการยับยั้งเอนไซม์โปรติเอสของยาต้านไวรัส Pfizer แตกต่างจากยา Ivermectin และวิธีการยับยั้งเอนไซม์โปรติเอสยังถูกใช้กับยาต้านไวรัสมาแล้วหลายชนิด ทั้งยาต้านไวรัสโรคตับอักเสบซีและยาต้านไวรัสเฮชไอวี
การทดสอบกับหนูแฮมสเตอร์ที่ติดเชื้อโคโรนาไวรัส พบว่ายา Ivermectin ช่วยฟื้นฟูประสาทรับกลิ่นและลดอาการอักเสบได้ดี และไม่พบว่ายา Ivermectin ลดปริมาณไวรัสในหนูทดลอง
บ่อยครั้งที่การทดลองยาต้านไวรัสประสบความสำเร็จอย่างดีในห้องปฏิบัติการ แต่ไม่สามารถนำมาใช้เป็นยารักษาโรคได้ เนื่องจากปริมาณความเข้มข้นของยาที่ใช้ในการทดลองไม่สามารถใช้กับมนุษย์ได้
ดร.เดวิด เบาว์แวร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อจากมหาวิทยาลัย University of Minnesota และกำลังศึกษาความเป็นไปได้ของการใช้ยา Ivermectin รักษาผู้ป่วยโควิด 19 ระยะเริ่มต้น อธิบายว่าวิธีการยับยั้งเอนไซม์โปรติเอสของยาต้านไวรัส Pfizer แตกต่างจากยา Ivermectin อย่างสิ้นเชิง ความแตกต่างที่สำคัญอีกประการคือ ยาต้านไวรัส Pfizer ประสบความสำเร็จในการใช้กับมนุษย์ แต่ปริมาณความเข้มข้นของยา Ivermectin ที่สามารถยับยั้งไวรัสในห้องปฏิบัติการ สูงกว่าความเข้มข้นที่สามารถใช้กับมนุษย์ 50 ถึง 100 เท่า ดังนั้นยา Ivermectin จึงไม่มีคุณสมบัติเป็นยาต้านไวรัสเหมือนกับยาที่บริษัท Pfizer และ Merck กำลังพัฒนาอยู่ในปัจจุบันนี้
ข้อมูลอ้างอิง:
https://www.factcheck.org/2021/10/scicheck-merck-pfizer-covid-19-antivirals-different-from-ivermectin/
- หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
- LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
- FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
- Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
- IG :: https://instagram.com/SureAndShare
- Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
- TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter