ปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ คือ โรคแบบใด อาการเป็นอย่างไร ใครมีความเสี่ยงจะเป็น และหากเป็นแล้ว จะดูแลรักษาอย่างไร ?
🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ อ.นพ.ประกิต อนุกูลวิทยา อายุรแพทย์โรคระบบประสาท คลินิกโรคปวดศีรษะ สาขาวิชาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กรรมการชมรมศึกษาโรคปวดศีรษะ ภายใต้สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย
ปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ (Cluster Headache) ผู้ป่วยปวดแล้วจะทรมานมาก บางคนดิ้นทุรนทุราย เอาศีรษะโขกกับของแข็งค่อนข้างรุนแรงมาก
เป็นอาการปวดศีรษะข้างเดียว ตำแหน่งที่ปวดบริเวณเบ้าตา เหนือเบ้าตา และขมับ ระยะเวลาที่ปวดประมาณ 15 นาที ถึง 3 ชั่วโมง
ขณะที่ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะก็จะมีอาการทางระบบประสาทอัตโนมัติที่อยู่บนใบหน้าร่วมด้วย เช่น น้ำตาไหล ตาแดง คัดจมูก หรือหนังตาตก
ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ปวดมักจะปวดช่วงใดช่วงหนึ่งของปี หรือช่วงใดช่วงหนึ่งของวัน เช่น ปวดเดือนกุมภาพันธ์ทุกปี หรือปวดตอนกลางคืนทุกวันของช่วงเวลานั้น
ปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ เหมือน หรือ แตกต่างจากปวดศีรษะทั่วไปหรือไม่ ?
มีอาการปวดศีรษะเหมือนกัน
ผู้ป่วยปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ จะปวดอยู่ข้างเดียวข้างนั้นตลอด
การสั่งการของระบบประสาทอัตโนมัติ คือ น้ำมูก น้ำตาไหล ร่วมด้วย
ที่เรียกว่า “ปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์” เพราะอาการปวดมาเป็นชุด และปวดถี่ ๆ ช่วงนี้ของเดือน จากนั้นก็หายไป แล้วมาปวดถี่ ๆ ช่วงนั้นของเดือนแล้วก็หายไป อยู่ในกลุ่มย่อยของอาการปวดศีรษะที่มีสาเหตุจากระบบประสาทอัตโนมัติที่อยู่บนใบหน้าร่วมด้วย เรียกว่า ไตรเจอร์มินอล (Trigeminal autonomic cephalalgias : TAC)
อาการปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ตำแหน่งที่ปวดจะอยู่ข้างนั้นข้างเดียว แต่อาการปวดไมเกรนปวดข้างเดียวก็จริงแต่สามารถสลับข้างได้ เช่น บางวันปวดศีรษะข้างซ้าย บางวันปวดศีรษะข้างขวา หรืออาจจะปวดทั้งสองข้างก็ได้ และมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย กลัวแสง แพ้แสง กลัวเสียง แพ้เสียง
ผู้ป่วยปวดศีรษะไมเกรนส่วนใหญ่นอนหลับพักผ่อน อยู่นิ่ง ๆ อาการปวดก็จะลดลง
ผู้ป่วยปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ไม่สามารถนอนหลับได้ เพราะความปวดค่อนข้างรุนแรงมาก
ปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ มีสาเหตุจากอะไร ?
ส่วนหนึ่ง เชื่อว่าเกิดจากความผิดปกติของสมอง ที่ชื่อว่าไฮโพทาลามัส (Hypothalamus) ทำงานผิดปกติ ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะอย่างนี้ขึ้นมา สมองส่วนไฮโพทาลามัส ควบคุมการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ หลายส่วน เกี่ยวกับระบบประสาทอัตโนมัติบริเวณใบหน้ามีอาการแปรปรวนจึงทำให้ปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ขึ้นมา
ส่วนหนึ่งเชื่อว่าปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์มีเรื่องพันธุกรรมเกี่ยวข้องด้วย แต่เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น
อีกส่วนหนึ่งมีปัจจัยบางอย่างที่เป็นตัวกระตุ้น บางการศึกษาพบว่าเกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ ที่อาจจะกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ขึ้นมาได้
ช่วงอายุที่พบปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ คือ 30-40 ปี และพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิงประมาณ 3-4 เท่า
ปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์รักษาหายขาดได้หรือไม่ ?
Primary cluster รักษาไม่หาย แต่ก็มีช่วงที่อาการกำเริบหายไป ส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้นถ้าได้รับการรักษา คือหายไปช่วงหนึ่งและกลับมาอีกในช่วงนั้นของปี
แนวทางการรักษา ในผู้ป่วยคลัสเตอร์ที่ปวดศีรษะข้างเดียว มีน้ำตาไหล ควรไปพบแพทย์ โดยเฉพาะปวดศีรษะครั้งแรก
1. แพทย์ระงับปวด โดยให้ดมออกซิเจน
2. ส่วนหนึ่งไม่มีสาเหตุ และอีกส่วนหนึ่ง (ประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์) มีสาเหตุ เช่น เนื้องอกต่อมใต้สมอง หรือรอยโรคที่อยู่ตำแหน่งก้านสมอง อาจจะต้องหาสาเหตุเพื่อทำการรักษา และกินยาป้องกันไม่ให้อาการปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์กำเริบ
ถ้ามีอาการปวดศีรษะบ่อย อย่างน้อย 1-2 ครั้งต่อเดือน รวมถึงอาการปวดรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน และ/หรือ มีอาการปวดศีรษะ 2-3 สัปดาห์ก็ยังไม่หายสักที อาจต้องไปพบแพทย์เพื่อการรักษาที่ต้นเหตุอย่างถูกต้อง ป้องกันไม่ให้มีอาการปวดศีรษะเรื้อรัง
หมั่นสังเกตร่างกาย ยิ่งพบโรคเร็วแต่เนิ่น ๆ การรักษาง่าย โอกาสหายก็มากกว่า
สัมภาษณ์โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์
เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ดูเพิ่มเติมรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ FACTSHEET : ปวดหัวแบบคลัสเตอร์
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter