20 พฤษภาคม 2567
แปลและเรียบเรียงบทความ : อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
มีข้อมูลเท็จเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ในต่างประเทศ เมื่อมีการอ้างว่ารัฐบาลประเทศญี่ปุ่นประกาศภาวะฉุกเฉิน หลังพบหลักฐานที่เชื่อว่ามีการแพร่ระบาดของผู้ป่วยมะเร็งจากการรับวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA
บทสรุป :
- เป็นข่าวปลอมที่เผยแพร่โดยเว็บไซต์ที่มีประวัติเผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง
- แม้ญี่ปุ่นจะยกเลิกบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ฟรีแก่ประชาชน แต่แนะนำให้วัคซีนโควิด-19 เป็นวัคซีนที่ควรฉีดตามฤดูกาล
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
ญี่ปุ่นสนับสนุนวัคซีนโควิด-19 เหมือนเดิม
จากการตรวจสอบพบว่า รัฐบาลประเทศญี่ปุ่นไม่มีการประกาศภาวะฉุกเฉินเกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิด-19 หรือมีข่าวการแบนวัคซีนโควิด-19 ตามที่กล่าวอ้างทางสื่อออนไลน์
โดยพบว่า ในช่วงเดือนเมษายน 2024 กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นได้ปรับเปลี่ยนนโยบายวัคซีนโควิด-19 โดยประกาศว่าให้บริการวัคซีนโควิด-19 แบบไม่คิดค่าใช้จ่าย จะสิ้นสุดลงภายในวันที่ 31 มีนาคม 2024 เท่านั้น แต่ยังมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในญี่ปุ่นต่อไปเช่นเดิม
นอกจากไม่มีการแบนหรือประกาศภาวะฉุกเฉินจากวัคซีนโควิด-19 แล้ว กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นยังประกาศให้วัคซีนโควิด-19 เป็นวัคซีนที่แนะนำให้ฉีดตามฤดูกาล โดยกลุ่มเป้าหมายได้แก่ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี หรือผู้ที่มีอายุระหว่าง 60-64 ปีที่มีโรคประจำตัว โดยเน้นการฉีดในช่วงฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาวของทุกปี
วัคซีนลดการตายจากโควิดได้จริง
กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นชี้แจงว่า อัตราการเสียชีวิตส่วนเกินภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้น มีมาตั้งแต่ก่อนการรณรงค์ฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว และพบการเสียชีวิตหลังการฉีดวัคซีนเพียง 2 เคสเท่านั้นที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าวัคซีนมีส่วนเกี่ยวข้อง
งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature เมื่อเดือนตุลาคม 2023 โดยนักวิจัยจากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกียวโต พบว่า การรณรงค์ฉีดวัคซีนโควิด-19 เมื่อปี 2021 ลดการเสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปี 2021 ได้ถึง 97%
ต้นตอจากเว็บข่าวลือ
จากการตรวจสอบโดย Fact Checker ในต่างประเทศพบว่า ต้นทางข่าวลือเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ในญี่ปุ่นมาจากเว็บไซต์ The People’s Voice
แม้จะอ้างตัวว่าเป็นเว็บไซต์ตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่บริหารงานโดยบริษัทที่ชื่อว่า Fact Checked Limited แต่ The People’s Voice ไม่ได้มีรูปแบบการนำเสนอข่าวแบบ Fact Checker แม้แต่น้อย และยังมีประวัตินำเสนอข่าวปลอมมาอย่างต่อเนื่อง
The People’s Voice เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2014 ในชื่อ Your News Wire ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น NewsPunch ในปี 2018 และเปลี่ยนเป็น The People’s Voice ในปี 2023 โดยสาเหตุของการเปลี่ยนชื่อมาจากการถูกวิจารณ์เรื่องการเผยแพร่ข่าวปลอมบ่อยครั้ง
เมื่อปี 2017 เว็บไซต์ BuzzFeed รายงานว่า The People’s Voice เป็นเว็บไซต์เผยแพร่ข่าวปลอมทาง Facebook มากเป็นอันดับที่ 2 ของปี 2017
ข้อมูลอ้างอิง :
https://www.techarp.com/science/japan-emergency-mrna-cancers/
https://leadstories.com/hoax-alert/2024/04/fact-check-japan-declares-emergency-over-explosion-of-mrna-cancers.html
https://www.reuters.com/fact-check/japan-is-not-banning-covid-vaccines-contrary-online-claims-2024-03-29
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter