06 ตุลาคม 2566
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
บทสรุป :
งานวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่าคาบการโคจรของดวงจันทร์ไม่ส่งผลต่อคุณภาพการผ่าตัด
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
มีความเชื่อว่าควรหลีกเลี่ยงการผ่าตัดในวันขึ้น 15 ค่ำและวันแรม 15 ค่ำ ซึ่งเป็นคืนพระจันทร์เต็มดวงและคืนไร้จันทร์ เนื่องจากเป็นช่วงที่แรงโน้มถ่วงของดวงจันทร์มีอิทธิพลต่อปรากฏการณ์ขึ้นน้ำลงมากที่สุด อิทธิพลจากดวงจันทร์จะส่งผลกระทบต่อความดันเลือดในร่างกาย การผ่าตัดในวันดังกล่าวจึงเพิ่มความเสี่ยงการเลือดไหลไม่หยุดอีกด้วย
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
มีงานวิจัยหลายชิ้นพบความสัมพันธ์ระหว่างการผ่าตัดและคาบการโคจรของดวงจันทร์ แต่งานวิจัยส่วนใหญ่ไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดได้ บางชิ้นพบปัญหาในกระบวนการวิจัย บางชิ้นถูกหักล้างผลวิจัยในภายหลัง
ดวงจันทร์กับความดันโลหิต
เมื่อปี 2013 มีงานวิจัยที่ศึกษาอัตราการเต้นหัวใจและความดันโลหิตของนักศึกษามหาวิทยาลัยเพศ พบว่าเมื่อวัดในคืนพระจันทร์เต็มดวงและคืนไร้จันทร์อัตราการเต้นหัวใจจะลดลงและความดันโลหิตลดลง 5 มิลลิเมตรปรอท นอกจากนี้หลังจากออกกำลังกายแล้ว อัตราการเต้นของหัวใจก็กลับมาอยู่ในอัตราปกติได้เร็วกว่าวันอื่น ๆ อีกด้วย
อย่างไรก็ดี งานวิจัยปี 2020 ซึ่งศึกษาศักยภาพทางกายและจิตใจของนักกีฬาชาย ไม่พบว่าการเปลี่ยนแปลงคาบการโคจรของดวงจันทร์ไม่มีผลต่อร่างกายของนักกีฬาแต่อย่างใด
งานวิจัยปี 2009 จากวารสารการแพทย์ Anesthesiology ได้สำรวจผู้ป่วยจำนวน 18,000 รายที่รักษาตัวในโรงพยาบาล Cleveland Clinic ระหว่างปี 1993-2006 โดยเป็นกลุ่มที่เข้ารับการผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Bypass Grafting) ซึ่งมีสาเหตุจากความดันเลือดสูง ซึ่งผลวิจัยยืนยันว่าคาบการโคจรของดวงจันทร์ไม่ส่งผลต่อการผ่าตัด
งานวิจัยปี 2021 ที่สำรวจผู้ป่วยจำนวน 2,995 รายในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย พบว่าการผ่าตัดผู้ป่วยภาวะหลอดเลือดแดงใหญ่ฉีกขาดชนิด A (ATAAD) เพิ่มมากขึ้นอย่างมากในช่วงพระจันทร์เต็มดวง แม้จะไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด แต่ผู้วิจัยเชื่อว่าความสว่างของแสงจันทร์ในคืนวันเพ็ญอาจทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาด้านการนอนหลับ ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงจนเป็นปัจจัยทำให้ผนังหลอดเลือดฉีกขาด
ดวงจันทร์กับคุณภาพการผ่าตัด
งานวิจัยปี 2003 ที่สำรวจคุณภาพการผ่าตัดผู้ป่วยจำนวน 782 รายในประเทศเยอรมนี ซึ่งการผ่าตัดมีขึ้นในคาบการโคจรของดวงจันทร์แตกต่างกัน ผลวิจัยไม่พบว่าผลข้างเคียงจากการผ่าตัดมีความแตกต่างกันแต่อย่างใด
งานวิจัยปี 2009 ที่สำรวจคุณภาพชีวิตหลังการผ่าตัดของผู้ป่วยมะเร็งปอดจำนวน 2,411 รายที่โรงพยาบาลในเมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี พบว่าคาบการโคจรของดวงจันทร์ที่แตกต่างกันในช่วงเวลา 30 ปี ไม่ส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตหลังการผ่าตัดมีความแตกต่างกันแต่อย่างใด
ผู้วิจัยย้ำว่าผลวิจัยจะช่วยให้แพทย์ลดความกังวลแก่ผู้ป่วยที่เชื่อในอิทธิพลของดวงจันทร์ ยกเว้นกรณีที่ผู้ป่วยมีความเชื่ออย่างแรงกล้า การเลื่อนวันผ่าตัดก็เป็นเรื่องจำเป็นหากไม่ส่งผลกระทบต่อการรักษาโดยรวม
ข้อมูลอ้างอิง :
https://en.wikipedia.org/wiki/Lunar_effect
https://www.rd.com/list/full-moon-myths/
https://www.healthline.com/health/full-moon-effects
https://www.livescience.com/5754-full-moon-affect-surgery-outcomes.html
https://eurjmedres.biomedcentral.com/articles/10.1186/2047-783X-14-4-178
https://academic.oup.com/icvts/article/34/1/105/6358699
https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/14555297/
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter