7 สิงหาคม 2566 – ตามที่มีการแชร์เรื่องเล่าเตือนว่า ผู้สูงวัยรายหนึ่ง ปวดศีรษะรุนแรง หมอสอบประวัติ พบสาเหตุว่าเป็นเพราะนั่งก้มหน้าเล่นมือถือมากเกินไป จนกดทับกระดูกต้นคอ ยิ่งก้มมาก ก้มนาน เสี่ยงอัมพฤกษ์อัมพาตได้นั้น
บทสรุป : จริงบางส่วน ไม่ควรแชร์ ⚠️
-การปวดศีรษะรุนแรง เป็นโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดสมอง
-การก้มหน้าเล่นมือถือทำให้ปวดต้นคอ เป็นอาการของกลุ่มโรคออฟฟิศซินโดรม
ดังนั้น อาการดังกล่าวข้างต้นไม่ใช่โรคเดียวกัน จึงไม่ควรแชร์ต่อให้เกิดความเข้าใจผิด
ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ ตรวจสอบกับ รศ.นพ.ประจักษ์ ศรีรพีพัฒน์ หัวหน้าสาขาวิชาประสาทศัลยศาสตร์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
จากเรื่องราวที่แชร์มามีสิ่งที่ไม่สัมพันธ์กัน อาการกระดูกคอเสื่อม หรือกล้ามเนื้อหลังไม่ดี ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการปวดหัวรุนแรง และหมดสติเฉียบพลัน แต่อาการปวดคอ มึนศีรษะนั้นมีความเป็นไปได้
Q : ตามที่แชร์กัน ผู้สูงอายุมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง แพทย์ต้องตรวจ MRI เพื่อสแกนหาผลผิดปกติ ?
A : อาการแบบนี้จะไม่ใช่อาการกลุ่มออฟฟิศซินโดรม แพทย์ต้องทำ MRI เพื่อหาตำแหน่งเลือดออกในสมองหรือบริเวณที่สมองว่าได้รับความเสียหายหรือไม่ หากมีเลือดออกแพทย์สามารถวินิจฉัยโรคและแยกโรคเพื่อเป็นแนวทางในการหาสาเหตุของภาวะเลือดออกในสมองได้ทันท่วงที
Q : อาการปวดหัวจนหมดสติ แพทย์ถือว่าเป็นเหตุฉุกเฉิน ?
A : เป็นกลุ่มอาการอันตราย ทางการแพทย์เราคิดถึงโรคบางโรคที่อาจจะเกิดเป็นต้นเหตุ แพทย์จะมีมาตรการไกด์ไลน์ว่า ถ้าเป็นแบบนี้ ต้องทำแบบนี้ ถ้าเจอก็ทำเลย รักษาเลย แต่ตามที่แชร์กันคือไม่เจอเลือดออกในสมอง แต่ถ้าเจอก็จะได้รักษาได้เลยทันที สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้
Q : ปวดหัวรุนแรงแบบอันตรายเกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง ?
A : ที่พบบ่อย คือ เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง หรือเลือดออกในสมอง
Q : การก้มหน้าดูมือถือนาน ๆ ทำให้กระดูกคอเสื่อม ?
A : โดยทั่วไปกระดูกคอจะเสื่อมตามวัยอยู่แล้ว แต่หากมีอาการกลุ่มออฟฟิศซินโดรมความเสื่อมอาจเร็วขึ้นได้ ท่าทางที่ไม่เหมาะสม เช่น การก้มศีรษะเล่นมือนาน ๆ หรือพฤติกรรมที่จำเป็นต้องก้มนาน ๆ เป็นประจำก็จะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคกระดูกคอเสื่อม
Q : แล้วถ้าคอเสื่อม จะส่งผลไปถึงสมองหรือไม่ ?
A : มีโอกาสเกิดขึ้นได้ แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดขึ้นทันที บางรายกระดูกคอเสื่อมทำให้กระดูกที่เสื่อมนั้นไปอุดตันหลอดเลือดสมอง
อย่างไรก็ตาม ทั้งสองอาการเป็นเรื่องน่าห่วงทั้งคู่ แต่อาการทั้งสองอย่างไม่สัมพันธ์กัน จึงไม่ใช่เหตุผลที่ใช้อธิบายกัน การแชร์แบบนี้ก็จะไปสร้างความเข้าใจผิด
สัมภาษณ์เมื่อ : 9 กุมภาพันธ์ 2566
ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย : พีรพล อนุตรโสตถิ์
เรียบเรียงโดย : ชยานิษฐ์ ผ่องใส
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter