กรมราชทัณฑ์ 4 ส.ค.-สถานการณ์โควิดในเรือนจำ พบติดเชื้อใหม่ 187 รายจากในเรือนจำสีแดง 165 ราย และห้องแยกกักโรค 22 ราย เร่งคัดกรอง วินิจฉัยและรักษาเร็ว เพื่อควบคุมโรค พร้อมย้ำมาตรการป้องกันเชื้อในทุกด้านทั้งจากเจ้าหน้าที่ ผู้ต้องขังรับใหม่ และสิ่งของจากภายนอก
นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเรือนจำและทัณฑสถาน (ข้อมูล ณ วันที่ 3 สิงหาคม 2564 เวลา 16.00 น.) พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 187 ราย (พบในเรือนจำสีแดง 165 ราย และพบในห้องแยกกักโรคผู้ต้องขังรับใหม่ 22 ราย) รักษาหายเพิ่ม 481 ราย เสียชีวิต 2 ราย รวมมีผู้ติดเชื้อที่ยังอยู่ในการดูแลของกรมราชทัณฑ์ 7,209 ราย (กลุ่มสีเขียว 81.5% สีเหลือง 18.1% และสีแดง 0.4%) เป็นพื้นที่กรุงเทพมหานคร 651 ราย ปริมณฑล 2,017 ราย และต่างจังหวัด 4,541 ราย
อย่างไรก็ตามในวันนี้ไม่พบเรือนจำแพร่ระบาดเพิ่มต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 โดยมีเรือนจำสีแดงคงที่ 29 แห่ง เรือนจำสีขาวที่ไม่พบการระบาด 106 แห่ง และสิ้นสุดการระบาดแล้วจำนวน 7 แห่ง มีผู้ติดเชื้อรักษาหายสะสม 40,659 ราย หรือ 83.8% ของผู้ติดเชื้อสะสม 48,474 ราย เสียชีวิตสะสมรวม 65 ราย คิดเป็นอัตรา 0.1% ของผู้ติดเชื้อสะสมทั้งหมด
สำหรับผู้เสียชีวิตทั้ง 2 ราย เป็นผู้ต้องขังจากเรือนจำจังหวัดสระบุรี และเรือนจำกลางขอนแก่น จากข้อมูลพบว่าเป็นกลุ่มเปราะบาง มีโรคประจำตัว และอาการอื่นร่วม ทำให้มีความรุนแรงของโรคมากกว่าปกติ ซึ่งผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างเต็มประสิทธิภาพตามมาตรฐานโดยทีมแพทย์ และส่งต่อการรักษายังโรงพยาบาลภายนอก แต่อาการยังคงไม่ดีขึ้น จนกระทั่งได้เสียชีวิตลง กรมราชทัณฑ์ ขอแสดงความเสียใจต่อการจากไป มา ณ โอกาสนี้ และได้ประสานญาติเพื่อนำร่างผู้เสียชีวิตไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาตามวิธีการจัดการศพผู้เสียชีวิตจากโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นที่เรียบร้อย
นายอายุตม์ กล่าวต่อว่า จากสถานการณ์ภายนอกที่พบการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น กรมราชทัณฑ์ จึงต้องรักษามาตรการป้องกันเชื้อโควิด-19 อย่างเคร่งครัดใน 3 ช่องทางสำคัญ คือจากเจ้าหน้าที่ จากผู้ต้องขังรับใหม่ และจากสิ่งของต่างๆ ที่จะต้องดูแลความสะอาดและฆ่าเชื้ออยู่เสมอ โดยเฉพาะอาหารที่ส่งมาจากภายนอกและการส่งต่อระหว่างแดน ที่ต้องป้องกันไม่ให้มีการปนเปื้อนและปลอดเชื้อ
ส่วนมาตรการควบคุมการระบาดยังคงยึดตามแนวทางสาธารณสุข คือ การคัดกรองรวดเร็ว (Early Detection) ตรวจวินิจฉัยรวดเร็ว (Early Diagnosis) รักษารวดเร็ว (Early Treatment) เพื่อช่วยให้ควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็ว (Early Containment) ทั้งด้วยวิธี RT-PCR, Antigen Test Kit (ATK) การเอกซเรย์ปอด และการตรวจวัดค่าออกซิเจนปลายนิ้ว ซึ่งล้วนเป็นประโยชน์ทั้งในแง่ของการรักษา และควบคุมโรค ทำให้ผู้ติดเชื้อได้เข้าถึงยาได้อย่างทันท่วงที ลดความรุนแรงของโรค และลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ในท้ายที่สุด .-สำนักข่าวไทย