กรุงเทพฯ 21 มี.ค.- โครงการอบรมหลักสูตรผู้บริหารยุทธศาสตร์การสื่อสารมวลชนระดับสูงด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ หรือ บยสส. รุ่นที่ 1 จัดการสัมมนากลุ่มย่อย เรื่อง “สื่อกับการรู้เท่าทันข่าวปลอม” เปิดเวทีร่วมให้ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการกลั่นกรองข้อมูล-ข่าวสารก่อนเผยแพร่
งานสัมมนา “สื่อกับการรู้เท่าทันข่าวปลอม” จัดที่สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศ ถนนสามเสน กรุงเทพฯ โดยผู้เข้าร่วมอบรมในโครงการหลักสูตรผู้บริหารยุทธศาสตร์การสื่อสารมวลชนระดับสูงด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บยสส.) รุ่นที่ 1 โดยมีวิทยากรที่ทำงานสื่อสารมวลชนที่เชี่ยวชาญในการกลั่นกรองข้อมูลข่าวสาร ที่ถูกต้องและรวดเร็ว คือ นายสุธีร์ จันทร์แต่งผล บรรณาธิการบริหารเว็บไซต์เอ็มไทยดอทคอม บริษัท โมโน ไซเบอร์ จำกัด และ นายพีรพล อนุตรโสตถิ์ ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท มาร่วมให้ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์
ทั้งนี้ มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ อาทิ ข่าวปลอม หรือ Fake news คืออะไร , ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ข่าวปลอม ในแง่มุมต่างๆ การยกตัวอย่างของผลกระทบ รูปแบบและลักษณะของข่าวปลอมในอดีตและปัจจุบัน ประเด็นข่าวปลอมที่ถูกแชร์เป็นจำนวนมาก ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 พร้อมวิธีรับมือและแก้ปัญหา ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายเพื่อรับมือกับข้อมูล หรือ ข่าวปลอม
นายสุธีร์ จันทร์แต่งผล บรรณาธิการบริหารเว็บไซต์เอ็มไทยดอทคอม กล่าวว่า ปัจจุบันข่าวปลอมจะเกิดขึ้นได้ง่ายและรวดเร็ว ตามของไวของสื่อโซเชียลมีเดีย ตามความไวของผู้ใช้งาน ซึ่งลักษณะของข่าวปลอมก็มีรูปแบบที่หลากหลาย เช่น 1.ข่าวปลอมทั้งหมดที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง 2.ข่าวปลอมที่มีความจริงแค่ครึ่งเดียว เมื่อนำมาสรุปก็จะทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไป และ 3.ข่าวที่ยังไม่มีข้อสรุป ฉะนั้นก่อนการเผยแพร่ข่าวสารออกไปจะต้องมีการตรวจสอบและกลั่นกรองความถูกต้องก่อนเสมอ โดยไม่ได้ยึดถือแค่ความเร็วเพียงอย่างเดียว
ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการเผยแพร่ข่าวปลอมว่า ต้องดูจากระดับของความใกล้ตัว ยิ่งใกล้ตัวประชาชนหรือผู้รับสื่อมากเท่าใด ความตื่นตระหนก หรือ ผลกระทบก็จะยิ่งต้องแรงมากขึ้นเท่านั้น อาทิ Fake News ที่เกิดขึ้นจากการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด19 ในช่วงที่ผ่านมา มีหลายเหตุการณ์ที่ทำให้ผู้คนแตกตื่น และวิตกกังวลมากขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลต่อเนื่องไปถึงเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขที่ปฏิบัติงาน อาจต้องมีภาระเพิ่มขึ้นในส่วนนี้ ฉะนั้น จะต้องมีความระมัดระวังก่อนการเผยแพร่ข่าว หรือ ส่งต่อข้อมูลที่อาจจะส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมาก
ด้านนายพีรพล อนุตรโสตถิ์ ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท กล่าวถึง หลักปฏิบัติก่อนการนำเสนอข่าวออก สื่อมวลชนจะต้องตระหนักว่าสิ่งที่จะเผยแพร่ต้องเป็นเรื่องที่ถูกต้องและมีประโยชน์กับประชาชน ดังนั้นการที่จะแน่ใจได้ จะต้องมีกระบวนการในหลายขั้นตอนที่จะต้องตรวจสอบ โดยแต่ละประเด็นก็จะมีกระบวนการในการตรวจสอบที่แตกต่างกันไป เช่น ประเด็นทางสุขภาพ ก็จะต้องมีชุดข้อมูลหรือความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นไม่ช่วยให้ความเห็นทั้งในพื้นที่สาธารณะและการให้ข้อมูลกับสื่อก่อนการเผยแพร่ เพื่อให้เกิดความเข้าใจและนำเสนออย่างถูกต้องและตรงประเด็นมากขึ้น
สำหรับประชาชนทั่วไปการจะรู้เท่าทันข่าวปลอมได้นั้น มีทั้งความยากและง่าย คือ ประชาชนทั่วไปอาจจะไม่ต้องมีการแข่งขันในการจะเผยแพร่ข่าวสารเท่ากับสื่อสารมวลชน ไม่จำเป็นต้องรีบบอกข้อมูล ซึ่งอาจจะวางข้อจำกัดตรงนี้ไปได้ และตระหนักได้ว่าข่าวสารที่ส่งออกไป อาจจะมีคนจำนวนหนึ่งที่อาจจะเชื่อถือในข้อมูลที่ส่งออกไป เมื่อตระหนักได้ก็จะเกิดความระมัดระวังมากขึ้น ขณะที่อีกส่วนหนึ่งที่เป็นความยากในการรู้เท่าทันข่าวปลอมของประชาชน คือ ข่าวสารหรือ ข้อมูลที่ส่งมาถึงประชาชนในหลากหลายช่องทาง บางข้อมูลก็ถูกประดิษฐ์ขึ้นมา ด้วยความหวังของคนประดิษฐ์ที่ต้องการให้ผู้รับสารมีความรู้สึก หรือเข้าใจอย่างไร ประชาชนจึงต้องเข้าใจและรู้ทันข้อมูลที่เข้ามา ทั้งนี้ ข่าวปลอมที่ถูกส่งต่อกันมาในปัจจุปันอาจจะส่งผลทำให้ประชาชนเป็นได้ทั้งเหยื่อ และเครื่องมือในการส่งต่อข่าวปลอม ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อคนในสังคมบุคคลอื่นๆ เพิ่มมากขึ้นได้ จึงควรระมัดระวังในส่วนนี้