สธ.19 พ.ย..-กรมอนามัย ชวนสร้างกุศล ล้างส้วมวัด-ศาสนสถาน เนื่องในวันส้วมโลกปี’63 World Toilet day 2020 เน้นทำความสะอาด 7 จุดเสี่ยงได้แก่ สายฉีดชำระ ที่กดโถส้วม โถปัสสาวะ ลูกบิดหรือกลอนประตู ที่รองนั่งโถส้วม พื้นห้องส้วม และที่เปิดก๊อก เพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 และสร้างสุขอนามัยที่ดี
นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังกิจกรรมรณรงค์ “วัดวา อาสา” ณ วัดพุทธปัญญา จังหวัดนนทบุรี ว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายในการพัฒนาส้วมสาธารณะไทยให้ได้มาตรฐาน HAS คือ สะอาด (Healthy) เพียงพอ (Accessibility) และปลอดภัย (Safety) โดยผลสำรวจอนามัยโพล ออนไลน์เรื่องการใช้ส้วมสาธารณะของประชาชนพบว่า สถานที่ตั้งของส้วมสาธารณะที่ควรปรับปรุงอันดับแรกคือ วัด ร้อยละ 64.2 เนื่องจากวัดเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนิกชนในการทำกิจกรรมทางศาสนา และเป็นสถานที่ท่องเที่ยว การมีส้วมที่สะอาดปลอดภัยช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคได้ ซึ่งกิจกรรมรณรงค์ “วัดวา อาสา” ทำความสะอาดส้วมวัด ในครั้งนี้ ถือเป็นการสร้างกุศลร่วมกัน โดยการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับผู้อื่นและช่วยป้องกันโรค โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การเฝ้าระวังการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 ของประเทศไทย จึงขอความร่วมมือวัด ศาสนสถานและสถานที่สาธารณะทุกแห่งใส่ใจเรื่องความสะอาดของส้วม โดยเฉพาะบริเวณผิวสัมผัสร่วม 7 จุดเสี่ยง ได้แก่ สายฉีดชำระ ที่กดโถส้วม โถปัสสาวะ ลูกบิดหรือกลอนประตู ที่รองนั่งโถส้วม พื้นห้องส้วม และที่เปิดก๊อก
“ทั้งนี้ ประชาชนที่ไปทำบุญที่วัดต้องมีพฤติกรรมในการใช้ส้วมอย่างถูกต้อง โดยปิดฝาโถส้วมก่อนกดชักโครก ทุกครั้งเพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของเชื้อโรค เว้นระยะห่างในขณะรอใช้ส้วมสาธารณะ 1-2 เมตร ไม่ขึ้นไปเหยียบบนโถส้วมแบบนั่งราบ เช็ดฆ่าเชื้อก่อนนั่งลงบนโถส้วม ไม่ทิ้งวัสดุใด ๆ ลงในโถส้วม และล้างมือด้วยสบู่และน้ำให้สะอาดอย่างน้อย 20 วินาที ทุกครั้งหลังใช้ส้วม เป็นการสร้างสุขอนามัยที่ดีให้กับตนเองและป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค ไปยังส่วนรวมด้วย และในส่วนของผู้ปฏิบัติงานจิตอาสาทำความสะอาดส้วมวัดนั้น ต้องสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยทุกครั้ง สวมถุงมือยางและผ้ายางกันเปื้อน สวมรองเท้าพื้นยางหุ้มแข้ง หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้าโดยไม่จำเป็น และหลังจากปฏิบัติงานเสร็จต้องล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำทันที” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว.-สำนักข่าวไทย