ทำเนียบรัฐบาล 19 พ.ย.-เนื่องในวันส้วมโลก (19พ.ย.) สธ.รณรงค์ “ส้วมปลอดภัย สุขใจทุกคน” Safe Toilets for All ก่อนประชุม ครม. โดยนายกฯได้ร่วมเยี่ยมชมนิทรรศการ พร้อมเชิญชวนให้ทุกคนร่วมใส่ใจรักษาคุณภาพส้วมสาธารณะ
นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า องค์การสหประชาชาติ กำหนดให้วันที่ 19 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันส้วมโลก ในปีนี้ องค์การส้วมโลก (World Toilet Organization) ได้กำหนด Theme คือ “Toilets for All – Leaving No One Behind” เพื่อรณรงค์ยุติการขับถ่ายในที่โล่ง และส่งเสริมให้ ทุกคนสามารถเข้าถึงการสุขาภิบาลที่ดี โดยจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง กรมอนามัยในฐานะตัวแทนการรณรงค์ส้วมโลกในประเทศไทย จึงดำเนินกิจกรรมรณรงค์ภายใต้หัวข้อ “ส้วมปลอดภัย สุขใจทุกคน (Safe Toilets for All)” โดยมุ่งเน้นส่งเสริมการสร้างส้วมที่ปลอดภัยสำหรับประชาชนทุกกลุ่มวัย จัดให้มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ เด็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ มีแสงสว่างเพียงพอ แยกเป็นสัดส่วนชาย-หญิง รวมทั้งในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน ผู้เกี่ยวข้องสามารถให้ความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที เพื่อให้ทุกเพศทุกวัยใช้ส้วมที่สะอาด เพียงพอ ปลอดภัยและเท่าเทียม ในสถานที่สาธารณะเป้าหมาย 12 ประเภท ได้แก่ แหล่งท่องเที่ยว ร้านจำหน่ายอาหาร ตลาดสด สถานีขนส่งทางบกและทางอากาศ สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง สถานศึกษา โรงพยาบาล สถานที่ราชการ สวนสาธารณะ ศาสนสถาน ส้วมสาธารณะริมทาง และห้างสรรพสินค้า/ศูนย์การค้า
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัย ได้ดำเนินการสำรวจส้วมสาธารณะตามเกณฑ์มาตรฐานส้วมสาธารณะระหว่างปี 2549-2562 ในภาพรวมมีส้วมสาธารณะที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานดีขึ้นจากร้อยละ 9.08 มาเป็นร้อยละ 72.18 และจากการสำรวจการปนเปื้อนเชื้อโรคในห้องส้วมพบเชื้อ อี.โคไล (E. coli) ที่ทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วง โดยพบมากที่สุดบริเวณพื้นห้องส้วม ที่รองนั่งโถส้วม ที่จับสายฉีดชำระ ซึ่งการพัฒนาเกณฑ์มาตรฐานส้วมสาธารณะไทย (HAS) มุ่งเน้นการพัฒนา 3 ด้าน จึงเกิดแนวคิดในการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ “ส้วม 3 ดี มีทุกที่ เพื่อทุกคน” คือ
1) สะอาดดี (Health) หมายถึง ห้องส้วมและสุขภัณฑ์ทั้งหมด ต้องมีความสะอาด ไม่มีกลิ่นเหม็น สภาพพร้อมใช้งาน และมีสภาพแวดล้อมที่สวยงาม รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชน มีพฤติกรรมการใช้ส้วมที่ถูกต้อง
2) เพียงพอดี (Accessibility) หมายถึง ห้องส้วมต้องมีจำนวนที่เพียงพอสำหรับประชาชนทั่วไป ผู้พิการ ผู้สูงวัย หญิงตั้งครรภ์ พร้อมใช้งานได้ตลอดเวลาที่เปิดให้บริการ รวมถึงจัดให้มีส้วมที่เหมาะสมตามหลักอารยสถาปัตย์ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงการใช้บริการได้ง่ายขึ้น
และ 3) ปลอดภัยดี (Safety) หมายถึง ส่งเสริมการสร้างส้วมที่ปลอดภัย ไม่ตั้งอยู่ในจุดที่ลับตาคน มีแสงสว่างเพียงพอ แยกเป็นสัดส่วนชายหญิง และการให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นในส้วม
“ปัจจุบันนี้ เจ้าของส้วมสาธารณะส่วนใหญ่ ได้มีการพัฒนาส้วม รวมทั้งมีการบริหารจัดการให้ส้วมสะอาด เพียงพอกับผู้มาใช้บริการที่ดีขึ้น ดังนั้นประชาชนที่ใช้บริการจึงต้องให้ความร่วมมือในการรักษาความสะอาดของส้วม และที่สำคัญคือต้องมีพฤติกรรมการใช้ส้วมที่ถูกต้อง คือ 1) ไม่ขึ้นไปเหยียบบนโถส้วมแบบนั่งราบ 2) ไม่ทิ้งวัสดุอื่นใดนอกจากกระดาษชำระลงในโถส้วม 3) ราดน้ำหรือกดชักโครกทุกครั้งหลังการใช้ส้วม และ4) ล้างมือทุกครั้งหลังการใช้ส้วม ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยและสุขอนามัยที่ดีของทุกคน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว .-สำนักข่าวไทย