กรมอนามัย 26 ต.ค.- กรมอนามัย ย้ำมาตรการเข้มฟิตเนส เช็กอิน “ไทยชนะ-เว้นระยะห่าง-เช็ดล้างอุปกรณ์” ป้องกันโควิด-19
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีหญิงชาวฝรั่งเศสติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย และพบเชื้อที่พื้นผิวอุปกรณ์ออกกำลังกายในห้องฟิตเนสภายในสถานที่กักกันนั้น การเฝ้าระวังและป้องกันโรคโควิด-19 ในสถานประกอบการจึงยังคงต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมอนามัย เนื่องจากตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ.2558 ข้อ 9(12) กำหนดให้การประกอบกิจการสถานที่ออกกำลังกายเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ดังนั้น ผู้ประกอบการประเภทสถานที่ออกกำลังกายหรือฟิตเนสต้องมีการคุมเข้มด้านความสะอาดและปฏิบัติตามแนวทางมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ตั้งแต่มีการกำหนดจุดลงทะเบียนคัดกรองผู้เข้าใช้บริการ
ส่วนพนักงานและเทรนเนอร์ต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1-2 เมตรและจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการไม่ให้แออัด รวมทั้งทำความสะอาดอุปกรณ์ เครื่องออกกำลังกาย บริเวณ ที่นั่งและส่วนที่เป็นจุดเสี่ยงที่มีการสัมผัสซ้ำ เช่น มือจับของอุปกรณ์ออกกำลังกาย ปุ่มกดของลู่วิ่งหรือเครื่องปั่นจักรยาน เป็นต้น โดยต้องหมั่นทำความสะอาดเป็นประจำทั้งก่อนและหลังใช้อุปกรณ์
นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า ในส่วนของผู้มาใช้บริการต้องลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “ไทยชนะ”และสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าเมื่อเข้าใช้บริการ ช่วงขณะที่ออกกำลังกายสามารถถอดออกได้ เนื่องจากเวลาออกกำลังกาย ร่างกายจะต้องการออกซิเจนมากขึ้น สังเกตได้จากการหายใจเร็วขึ้น การสวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าจะทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ
นอกจากนี้ก่อนเล่นให้เช็ดทำความสะอาดอุปกรณ์ต่างๆ ด้วยผ้าและน้ำยาทำความสะอาดที่ทางฟิตเนสเตรียมไว้ให้ แต่เพื่อความมั่นใจควรพกสเปรย์แอลกอฮอล์เข้มข้น 70เปอร์เซ็นต์ไปด้วย ฉีดทิ้งไว้ 30วินาทีจนเริ่มแห้ง แล้วค่อยเช็ดตามด้วยผ้าและอย่าลืมเช็ดทำความสะอาดอีกครั้งหลังเล่นเสร็จ รวมทั้งควรเพิ่มระยะห่างในการใช้อุปกรณ์สำหรับออกกำลังกาย หลีกเลี่ยงการพูดคุยระยะใกล้ชิดกันและล้างมือบ่อยๆไม่ใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา ปาก จมูก และหลีกเลี่ยงการอยู่บริเวณที่มีผู้มาใช้บริการจำนวนมาก
ทั้งนี้ เกณฑ์มาตรฐานสถานประกอบกิจการด้านการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ประกอบด้วย
1)มาตรฐานด้านอาคารสถานที่และสิ่งแวดล้อม เช่น อาคารและคุณลักษณะภายในมีความมั่นคง แข็งแรง เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร
2)มาตรฐานด้านอุปกรณ์ออกกำลังกาย เช่น มีระบบและรายงาน การตรวจเช็กอุปกรณ์ออกกำลังกายให้มีความแข็งแรง ทนทาน สะอาด และพร้อมใช้งานทุกวัน
3)มาตรฐาน การให้บริการ เช่น จัดทำป้ายคำแนะนำ/คำเตือน ในการออกกำลังกาย โดยติดไว้ให้เห็นอย่างชัดเจน
4)มาตรฐานด้านบุคลากร ผู้ให้บริการ เช่น บุคลากรผู้ให้บริการออกกำลังกาย ต้องมีคุณสมบัติจบการศึกษา ขั้นต่ำปริญญาตรีทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาศาสตร์การกีฬา หรือพลศึกษา และผ่านการอบรมหลักสูตร ผู้ฝึกสอนการออกกำลังกาย (Instructor Exercise) ที่จัดโดยกรมอนามัย หรือหลักสูตรที่ได้รับความเห็นชอบร่วมกันระหว่างกรมอนามัยและสถาบันการศึกษา
5) มาตรฐานด้านความปลอดภัยและมาตรการกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ส่วนมาตรฐานสวนสาธารณะเพื่อการออกกำลังกายประกอบด้วยมาตรฐานด้านบริหารจัดการ มาตรฐานด้านการตอบสนองผู้ใช้บริการและมาตรฐานด้านกายภาพ” รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าว .-สำนักข่าวไทย