ปทุมธานี 7 ต.ค.-กระทรวงศึกษาฯ เร่งยกระดับอาชีวศึกษาไทยสู่ความเป็นเลิศ มุ่งผลิตและพัฒนาทุนมนุษย์รองรับตลาดแรงงาน เพิ่มศักยภาพทัดเทียมมาตรฐานสากล
กระทรวงศึกษาธิการ เดินหน้าประกาศความพร้อมขับเคลื่อนอาชีวศึกษายกกำลังสอง “สู่มิติใหม่อาชีวศึกษาไทย” มุ่งผลิตและพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital) ด้วยศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ (Human Capital Excellence Center: HCEC) เพื่อยกระดับศักยภาพกำลังคนอาชีวศึกษา ให้สอดคล้องกับความต้องการแรงงานของประเทศ พร้อมโชว์ศักยภาพกระแสตอบรับ จากผู้ประกอบการชั้นนำระดับประเทศและระดับโลก โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิด ที่วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี จ.ปทุมธานี
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า ศธ.พร้อมสร้างกลไกขับเคลื่อนอาชีวศึกษายกกำลังสอง ด้วยศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศของอาชีวศึกษา เพื่อผลิตและพัฒนาทุนมนุษย์สู่ความเป็นเลิศและยั่งยืน สอดคล้องกับแผนงานการปฏิรูปการศึกษายกกําลังสอง โดยมุ่งเน้นให้กระบวนการทำงานของกระทรวงศึกษาธิการ และสถาบันอาชีวศึกษา ซึ่งจำเป็นต้อง “ปลดล็อก” จากการเรียนการสอนในรูปแบบเดิมที่ไม่ตอบโจทย์การทำงาน หรือปัญหาช่องว่างทางทักษะที่ไม่เพียงพอต่อการทำงานจริง โดยต้อง “ปรับเปลี่ยน” เชื่อมโยงความรู้และทักษะที่จำเป็น และสอดคล้องเข้าสู่ระบบการศึกษา เพื่อให้ตอบโจทย์กับความต้องการของตลาดแรงงานในประเทศ และ “เปิดกว้าง” ด้วยการผนึกกำลังระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ในการเตรียมความพร้อมการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนกำลังคนในทุกมิติสู่ความเป็นเลิศในแต่ละด้าน เพื่อให้สอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงาน ที่ภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรมต้องการ ตลอดจนเป็นการเพิ่มพูนทักษะกับมืออาชีพในสถานที่จริง เพื่อให้ได้ศักยภาพแรงงานที่ตรงกับความต้องการ และมีความเป็นเลิศอย่างแท้จริง
โดยที่ผ่านมากระทรวงศึกษาได้มอบหมายนโยบาย ในการสนับสนุนให้สถาบันอาชีวศึกษาผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพตามความเป็นเลิศของสถานศึกษาและตามบริบทของพื้นที่ โดยต้องสอดคล้องกับความต้องการด้านแรงงานของประเทศทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทุกภาคส่วน โดยเฉพาะหน่วยงานภาคเอกชน สถานประกอบการ เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาและตั้งศูนย์ HCEC อาชีวศึกษาให้เป็นอาชีวศึกษาเฉพาะทางตามบริบทของพื้นที่นั้นๆ ผ่านองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ตลอดจนการเพิ่มพูนทักษะประสบการณ์จากการเรียนในสถานที่จริง หรือสถานการณ์จริง เพื่อยกระดับความสามารถของผู้เรียน และผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันอาชีวศึกษา ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันส่งผลให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนในอนาคต
ทั้งนี้ สถาบันอาชีวศึกษาได้รับการสนับสนุนจากสถานประกอบการชั้นนำทั้งในระดับประเทศและระดับโลก ตลอดจนภาคเอกชนจากสาขาอาชีพต่างๆ ในการผลิตและพัฒนากำลังคน ในสาขาที่เป็นความต้องการของตลาดแรงงาน ด้วยการนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีมาพัฒนาเป็นหลักสูตรอาชีวศึกษาเฉพาะทาง แบบ 1 เอกชน ต่อ 1 วิทยาลัย ใน 7 สายงานหลัก ได้แก่ ปิโตรเคมี(Petrochemical), เทคโนโลยีธุรกิจดิจิทัล (Digital Business Technology), หุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม (Robotics), เกษตรสมัยใหม่ (Smart Farming), อุตสาหกรรมการบิน (Aviation Industry), อุตสาหกรรมระบบราง (Railway Industry) และยานยนต์สมัยใหม่ (Next Generation Automotive), และ ธุรกิจโรงแรมและการบริการ (Hospitality Industry) ซึ่งในขณะนี้ ได้รับความร่วมมือในการช่วยกันพัฒนาและยกระดับการจัดการอาชีวศึกษาจากสถานประกอบการชั้นนำ แล้วกว่า 32 แห่ง และตั้งเป้าหมายจะได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนในการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศอาชีวศึกษา ให้ครบ 50 แห่งในสิ้นปี 2563 และในปี 2564 ครบ 100 แห่งทั่วประเทศ .-สำนักข่าวไทย