กทม. 18 ก.ค.- วธ. ผนึกกำลัง พศ.-ศธ.-สำนักงานคณะกรรมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติ ฟื้นฟูศรัทธาชาวพุทธ ชู “ReFaith Thailand” เชื่อมโยงวัฒนธรรม-ศีลธรรม กับคนรุ่นใหม่
นางสาวแพทองธาร ชินวัตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2568 มีมติมอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยพุทธที่ถูกต้อง สร้างความเข้าใจที่ดีระหว่างฆราวาสกับพระสงฆ์และส่งเสริมวิถีคิดแบบไทย เพื่อธำรงไว้ซึ่งศีลธรรมและหลักการอยู่ร่วมกันในสังคมไทย นั้น
ได้รับรายงานว่า นายประสพ เรียงเงิน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับนายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา หารือร่วมกับนายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และนายอินทพร จั่นเอี่ยม ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เตรียมบูรณาการ “โครงการฟื้นฟูศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาในกลุ่มคนรุ่นใหม่” ภายใต้ชื่อ “ReFaith Thailand” ภายใต้แนวคิด “ฟื้นใจ .. ให้ศรัทธา” ซึ่งเป็นการบูรณาการระหว่างกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยจะประสานความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติด้วย มีเป้าหมายเพื่อสร้างแกนนำคนรุ่นใหม่ร่วมฟื้นฟูความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ในนาม “พุทธะพลังใหม่ สร้างไทยสู่อนาคต” ผ่านกิจกรรมและกระบวนการเรียนรู้ ที่ร่วมสมัย สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยปัจจุบัน โดยเฉพาะการเชื่อมโยงพระพุทธศาสนากับวิถีชีวิต ของคนรุ่นใหม่อย่างสร้างสรรค์ มีกิจกรรมหลัก อาทิ เวทีเสวนาแลกเปลี่ยนระหว่างพระสงฆ์ เยาวชน ครู และชุมชนในระดับพื้นที่ สื่อธรรมะยุคใหม่ที่เข้าถึงง่าย ทันสมัย ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ส่งเสริมบทบาทของพระนักพัฒนาและพระสงฆ์รุ่นใหม่ในการเผยแผ่ธรรมะเชิงรุก บูรณาการหลักธรรมในระบบการศึกษาทั้งในโรงเรียน วิทยาลัย และมหาวิทยาลัย รวมถึงการศึกษานอกระบบ รวมทั้งรณรงค์ศีลธรรมและวัฒนธรรมพุทธ ในครอบครัว ชุมชน และสังคม ผ่านกิจกรรมในวัดและศูนย์วัฒนธรรม
“พระพุทธศาสนา คือรากฐานทางจิตใจที่หล่อหลอมสังคมไทย เราต้องช่วยกันฟื้นฟูศรัทธา ด้วยการสื่อสารที่เข้าถึงจิตใจของคนรุ่นใหม่ ให้เขาเข้าใจธรรมะผ่านภาษาและประสบการณ์ของเขา เพื่อให้สังคมไทย มีหลักยึดมั่นที่มั่นคงในอนาคต”
ทั้งนี้ วธ. โดย ศน. ได้กำหนดแนวทางการฟื้นฟูศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างยั่งยืน 2 ระยะ ดังนี้
1.ระยะเร่งด่วน บูรณาการใน 4 มิติ ด้านศาสนบุคคล ให้ความรู้เรื่องมารยาทที่เหมาะสมกับพระสงฆ์ ส่งเสริมการบวชและปฏิบัติธรรม เช่น โครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน และค่ายธรรมะสำหรับเยาวชน ด้านศาสนวัตถุ / ศาสนสถาน จัดกิจกรรมเชื่อมโยงวัดกับชุมชน เช่น “ตักบาตรศรัทธาอิ่มบุญ” เพื่อให้วัดเป็นศูนย์กลางของจิตใจและเศรษฐกิจชุมชน ด้านศาสนพิธี ปลูกฝังความเข้าใจใหม่ว่า “บุญ” วัดจากเจตนาและศรัทธา ไม่ใช่จำนวนเงิน ส่งเสริมกิจกรรมที่เน้นเนื้อหาธรรมะและการมีส่วนร่วม เช่น ตักบาตร ฟังธรรม เวียนเทียน โดยลดความฟุ่มเฟือย และด้านศาสนธรรม เน้นหลัก “เชื่ออย่างมีเหตุผล” โดยใช้ปัญญาไตร่ตรอง และส่งเสริมให้ธรรมะเป็นวิถีชีวิต เช่น ตักบาตร พูดดี คิดดี ทำดี ไม่จำกัดเฉพาะวันพระหรือบนสื่อออนไลน์เท่านั้น
2.ระยะยาว ด้านศาสนบุคคล ยกย่องบุคคลต้นแบบทางศาสนา และคัดเลือกผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา สร้างหลักสูตรผลิตศาสนทายาท เช่น โครงการบวชสามเณร อบรมธรรมทายาท เชื่อมโยงกับแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) พอเพียง – วินัย – สุจริต – จิตอาสา – กตัญญู ด้านศาสนวัตถุ / ศาสนสถาน พัฒนาเส้นทาง “ศรัทธา-วัฒนธรรม” และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงจาริกธรรม ด้านศาสนพิธี สนับสนุนให้พิธีกรรมในวันสำคัญทางศาสนาเป็นไปอย่าง “พอเพียง สงบ งดงาม” และสอดคล้องกับหลักธรรม ด้านศาสนธรรม ผลิตและพัฒนาสื่อธรรมะสร้างสรรค์ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ขับเคลื่อนโมเดล “บวร” (บ้าน-วัด-โรงเรียน) โดยใช้ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง ส่งเสริมกิจกรรมธรรมะในโรงเรียน ใช้เทคโนโลยีเผยแผ่ธรรมะ ตลอดจนสนับสนุนกิจกรรมธรรมะเชิงสร้างสรรค์ เช่น “ธรรมะอารมณ์ดี” และ “วัยรุ่นตื่นรู้ โต้ธรรมะวาที” เพื่อเข้าถึงเยาวชน เป็นต้น.-สำนักข่าวไทย