สธ. 19 ส.ค.-สธ. แถลงร่วม รพ.รามาฯ หญิงไทย 2 คน มีประวัติกลับจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กักตัวในสถานที่รัฐจัดให้ครบ 14 วัน หลังกลับบ้านเดือนกว่า ต้องการมาตรวจร่างกายไปทำงานต่างประเทศ กลับพบมีเชื้อโควิด-19 รายแรกเป็นซากเชื้อและพบภูมิคุ้มกัน รายที่ 2 ติดเชื้อ แต่ปริมาณน้อย รอตรวจยืนยัน แต่โอกาสติดเชื้อในประเทศมีน้อยมาก คาดทราบผล 2-3 สัปดาห์
หลังจากที่มีกระแสข่าวพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 รับการรักษาที่สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล นั้น นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี แถลงข่าว ข้อเท็จจริงเรื่องการติดเชื้อโควิด-19 โดย นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ผู้ป่วยที่ได้รับรายงาน เป็น หญิงไทย กลับจากต่างประเทศ 2 คน มีประวัติเดินทางกลับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ทั้งคู่ ซึ่งในรายแรก เป็นหญิงอายุ 34 ปี กลับเข้าไทย 2 มิถุนายน กักตัวอยู่ใน State Quarantine จนครบ 14 วัน ตรวจครั้งแรก 5 มิถุนายน พบปริมาณสารพันธุกรรมเชื้อปริมาณน้อย ครั้งที่ 13 มิถุนายน ไม่พบปริมาณเชื้อ จากนั้นเมื่อครบ 14 วัน จึงอนุญาตให้กลับภูมิลำเนาที่จังหวัดชัยภูมิและอยู่บ้านควบคุมโรคต่อเนื่อง 30 วัน และเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ต้องการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ จึงมาตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ตรวจพบสารพันธุกรรมและตรวจพบภูมิคุ้มกันร่างกาย จึงเชื่อว่าเชื้อที่เจอในร่างกายเป็นซากเชื้อของโควิด-19 ไม่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค
นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า สำหรับรายที่ 2 เป็นหญิง อายุ 35 ปี เดินทางเข้าไทย เมื่อ 24 มิถุนายน และกักตัวใน State Quarantine จนครบ 14 วัน และตรวจไม่พบเชื้อทั้ง 2 ครั้ง จึงให้กลับจังหวัดเลย และเตรียมเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม เดินทางไปตรวจร่างกายเพื่อต้องการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ (ขอใบรับรองแพทย์ ) แต่พบเชื้อโควิด-19 ในร่างกายปริมาณน้อย และยังไม่มีอาการ สบายดี ทางโรงพยาบาลจึงรับตัวดูอาการ โดยการรักษาจากนี้เน้นการสังเกตอาการ แยกจากผู้อื่น ไม่ได้มีการให้ยาอื่นเพิ่ม เนื่องจากไม่มีอาการ คาด 2-3 สัปดาห์ จึงจะทราบ คาดว่า ผู้ป่วยรายนี้โอกาสเป็นติดเชื้อในประเทศน้อยมาก ส่วนครอบครัวหรือคนใกล้ชิดไม่ต้องกังวล เนื่องจากไม่มีอาการ จึงไม่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผอ. กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากข้อมูลวารสารทางการแพทย์ในต่างประเทศ พบว่าโอกาสของผู้ป่วยโควิด-19 ที่รักษาหายแล้ว มีซากเชื้อไวรัสในร่างกายได้ถึง 3 เดือน แต่สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้.-สำนักข่าวไทย