3 ต.ค. – สถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยาวันนี้ (3 ต.ค.) ที่สถานี C2 ค่ายจิรประวัติ จ.นครสวรรค์ จุดที่อยู่เหนือเขื่อนเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,631 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ลดลงจากเมื่อวานเล็กน้อย ที่มีน้ำไหลผ่าน 2,657 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ส่วนที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท มีการไหลของน้ำเพิ่มจากเมื่อวาน 2,766 เป็น 2,784 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ส่วนสถานีบางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา วันนี้มีน้ำไหลผ่าน 3,052 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ขยับขึ้นจากเมื่อวานที่อยู่ที่ 3,010 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

ทุกสถานีขณะนี้ระดับน้ำล้วนต่ำกว่าตลิ่งทั้งสิ้น ยกเว้นที่ สถานี C.35 อ.พระนครศรีอยุธยา ณ เวลา 16.00 น. มีระดับน้ำอยู่ที่ 5.47 เมตร ซึ่งระดับตลิ่งจะอยู่ที่ 4.58 ม. ตรงจุดนี้ระดับน้ำสูงกว่าระดับตลิ่งอยู่ 1.11 เมตร
ส่วนที่ลุ่มน้ำป่าสัก สถานการณ์น้ำในเขื่อนป่าสักวันนี้ มีปริมาณน้ำอยู่ที่ 1,003 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 104% ของความจุเขื่อน มีน้ำเข้าอ่าง 82.93 ล้าน ลูกบาศก์เมตร ระบายน้ำวันละ 98.81 ล้าน ลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้เขื่อนป่าสักยังคงระบายน้ำเพื่อพร่องน้ำไว้เตรียมรับกับสถานการณ์ฝนที่อาจจะตกเพิ่มในสัปดาห์หน้า
แต่เมื่อเทียบกับเมื่อวาน จะเห็นได้ว่าน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนป่าสักลดลงเล็กน้อย จากที่เมื่อวานมีน้ำไหลผ่าน 1,151 ลูกบาศ์กเมตรต่อวินาที แต่วันนี้มีน้ำไหลผ่าน 1,143 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ถือว่าลดลงเล็กน้อยเพื่อบรรเทาสถานการณ์น้ำท้ายเขื่อน
ส่วนน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนพระรามหก ตัวเลขเท่ากับเมื่อวานนี้ที่ 762 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
เทียบให้เห็นภาพกับสถานการณ์น้ำที่ลุ่มน้ำป่าสัก เมื่อเวลา 16.00 น. พบว่ามีน้ำที่สูงกว่าระดับตลิ่งอยู่ 2 สถานี โดยสถานีแรก S.32 อ.เมืองสระบุรี ระดับตลิ่ง 12.80 เมตร แต่มีระดับสูงถึง 14.58 เมตร หมายความว่ามีน้ำสูงกว่าระดับตลิ่งถึง 1.78 เมตร
อีกจุดที่สถานการณ์น่าเป็นห่วงคือ บริเวณสถานี s26 อ.ท่าเรือ พระนครศรีอยุธยา ระดับตลิ่งอยู่ที่ 8 เมตร แต่ระดับน้ำ ณ เวลา 16.00 น. อยู่ที่ 9.18 ม. สูงกว่าระดับตลิ่งอยู่ 1.18 เมตร
ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า ในวันที่ 5 ตุลาคมนี้ จะมีความชัดเจนเรื่องหย่อมความกดอากาศในทะเลแปซิฟิก จะชี้ชัดได้ว่าแนวโน้มสภาพอากาศจะมีพายุเข้าสู่ประเทศไทยอีกหรือไม่อย่างไร
ด้านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานจากอิทธิพลพายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่” ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 31 จังหวัด ประชาชนได้รับผลกระทบ 264,210 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 8 ราย ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 14 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 17 จังหวัด รวม 81 อำเภอ โดยพื้นที่ที่แนวโน้มน้ำลดระดับ ลงแล้วได้แก่ สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร ชัยภูมิ นครสวรรค์ อุทัยธานี ลพบุรี. – สำนักข่าวไทย