กรุงเทพ 18 เม.ย. – ก.คมนาคม สรุปตัวเลขภาพรวมการเดินทางช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2568 บนโครงข่ายคมนาคม 7 วัน (11-17 เม.ย.68) ระบบขนส่งสาธารณะทั้งภายในประเทศ และระหว่างประเทศ มีประชาชนเดินทางรวมกว่า 17 ล้านคน
กระทรวงคมนาคม โดยศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยคมนาคม เปิดเผยตัวเลขภาพรวมการเดินทางเทศกาลสงกรานต์ 2568 ระหว่างวันที่ 11 – 17 เมษายน 2568 ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมบูรณาการอำนวยความสะดวกและการให้บริการการเดินทางประชาชน พบว่าสามารถบริหารจัดการและอำนวยความสะดวกประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาได้อย่างเพียงพอ ไม่มีผู้โดยสารตกค้าง
ตามที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีนโยบายให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยให้กับประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2568 เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนเกิดความอุ่นใจ เดินทางสู่จุดหมายปลายทางด้วยความสะดวกปลอดภัยนั้น ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยคมนาคมได้สรุปข้อมูลการเดินทางบนโครงข่ายคมนาคม ระหว่างวันที่ 11-17 เมษายน 2568 (รวม 7 วัน) มีประชาชนเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะ รวม 17,200,095 คน ลดลงร้อยละ 3 (เปรียบเทียบกับวันที่ 11-17 เมษายน 2567) โดยระบบขนส่งทางรางมีสัดส่วนการใช้บริการสูงสุด คือ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 44 ส่วนปริมาณการเดินทางด้วยรถยนต์เข้า – ออก กรุงเทพฯ บนทางหลวงสายหลัก 11 เส้นทาง มีปริมาณ 6,837,762 คัน ลดลงร้อยละ 0.01 มีการเดินทางภายในกรุงเทพฯ บนทางด่วนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) รวม 8,903,416 คัน ลดลงร้อยละ 0.56
สำหรับมาตรการตรวจความพร้อมเพื่อดูแลอำนวยความสะดวก ปลอดภัย มีการตรวจรถโดยสารสาธารณะ ณ จุดตรวจ จุดพักรถ และจุดจอด 222 แห่ง ตรวจรถ 101,708 คัน ไม่พบข้อบกพร่อง ตรวจผู้ปฏิบัติงาน 101,708 คน พบอุณหภูมิในร่างกายเกิน (เป็นไข้) และความดันสูงเกินปกติ สั่งเปลี่ยน 2 คน ไม่พบสารเสพติด และแอลกอฮอล์ การขนส่งระบบรางได้ตรวจผู้ปฏิบัติงาน 991 คน ไม่พบแอลกอฮอล์ หรือสารเสพติด ตรวจท่าเรือ/แพ 159 แห่ง ตรวจเรือ 6,830 ลำ พบข้อบกพร่อง 8 ลำ สั่งแก้ไข 8 ลำ ตรวจผู้ปฏิบัติงาน 9,651 คน ไม่พบแอลกอฮอล์ หรือสารเสพติด
จากการดำเนินมาตรการต่าง ๆ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2568 ระหว่างวันที่ 11-17 เมษายน 2568 เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา พบว่า เกิดอุบัติเหตุบนโครงข่ายถนนของกระทรวงคมนาคมรวม 1,434 ครั้ง ลดลงร้อยละ 7 มีผู้เสียชีวิต 157 คน ลดลงร้อยละ 26 และผู้บาดเจ็บ 1,429 คน ลดลงร้อยละ 17 ซึ่งสถิติอุบัติเหตุและจำนวนผู้บาดเจ็บยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องให้ความสนใจอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลชี้ให้เห็นถึงปัจจัยเสี่ยงหลัก เช่น การขับรถเร็วเกินกำหนด การดื่มแล้วขับ และการไม่สวมหมวกนิรภัย ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับรถจักรยานยนต์ ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมจะนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์และประเมินผล เพื่อพัฒนาและปรับปรุงมาตรการอำนวยความสะดวกปลอดภัย การบูรณาการความร่วมมือเพื่อบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดยิ่งขึ้น การรณรงค์สร้างความตระหนักด้านความปลอดภัย เพื่อลดอุบัติเหตุและสร้างความปลอดภัยสูงสุดแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวในเทศกาลครั้งต่อไป. -513-สำนักข่าวไทย