นครนายก 9 ต.ค.-ตรวจสอบสถานการณ์น้ำในเขื่อนล่าสุด พบ 4 แห่งที่มีน้ำในอ่างเกินกว่า 80% ของความจุ โดยเฉพาะเขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก ที่พบน้ำเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ 96% ด้านกรมอุตุฯ ออกประกาศ พายุระดับ 1 บริเวณภาคใต้ตอนบน ฉบับสุดท้าย
ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวไทย ลงพื้นที่ตรวจสอบปริมาตรน้ำในเขื่อนขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก หลังจากที่ผ่านมาเกิดฝนตกหนักที่นครราชสีมา และเขื่อนขุนด่านฯ เป็นเขื่อนที่รับน้ำที่ไหลมาจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ผ่านน้ำตกเหวนรก และไหลลงสู่เขื่อนขุนด่านฯ
ล่าสุดปริมาตรน้ำเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 214.12 ล้านลูกบาศก์เมตร จากระดับน้ำกักเก็บ 224 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 95.59 ของความจุ โดยมีน้ำไหลลงเขื่อนมากถึง 2.29 ล้านลูกบาศก์เมตร และปริมาตรน้ำระบายอยู่ที่ 0.331 ล้านลูกบาศก์เมตร
อย่างไรก็ตาม หากตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังพบว่า เขื่อนขุนด่านฯ มีปริมาตรน้ำในเขื่อนต่ำสุดของปีนี้ คือ 26.46 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 11.81 เมื่อวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งหมายความว่าผ่านประมาณเพียงแค่ประมาณ 4 เดือนมีระดับน้ำเพิ่มขึ้นมากกว่า 187 ล้านลูกบาศก์เมตรเลยทีเดียว
สำหรับภาพรวมเขื่อนที่มีปริมาตรน้ำในเขื่อนมากกว่าร้อยละ 80 ประกอบด้วย เขื่อนจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ มีปริมาตรน้ำ 138 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 84 เขื่อนลำพระเพลิง จังหวัดนครราชสีมา มีปริมาตรน้ำ 129 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 83 ส่วนที่เขื่อนหนองปลาไหล จังหวัดระยอง มีปริมาตรน้ำ 166 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 102 คือเกินระดับกักเก็บปกติไปแล้ว
สำหรับสถานการณ์ในเขื่อนขนาดใหญ่ ทั้งเขื่อนภูมิพล, เขื่อนสิริกิติ์ พบว่ายังไม่น่าเป็นห่วง ยังสามารถรองรับน้ำได้อีกจำนวนมาก เช่นเดียวกับ 2 เขื่อนใหญ่ที่กาญจนบุรี คือ เขื่อนวชิราลงกรณ์ ที่ระดับน้ำอยู่ที่ร้อยละ 50 ของความจุ แม้ก่อนหน้านี้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่อำเภอสังขละบุรี และระดับน้ำในแม่น้ำซองกาเลียเพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวที่เขื่อนศรีนครินทร์ ระดับน้ำอยู่ที่ร้อยละ 70 ของความจุ
อย่างไรก็ตาม ฝนที่ตกหนักในภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดได้มีการระบายน้ำออกท้ายเขื่อนเจ้าพระยาอัตรา 718 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มขึ้นจากเดิม 70 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนที่อำเภอสรรพยาจะสูงขึ้นจากเดิม 33 เซนติเมตร
อย่างไรก็ตาม เมื่อวานนี้ (8 ต.ค.) มีการคาดว่าปริมาณน้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C2 จังหวัดนครสวรรค์ จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในเกณฑ์ 1,300-1,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ประมาณ 700-900 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ตั้งแต่ชัยนาทไปจนถึงพระนครศรีอยุธยาเพิ่มสูงขึ้นจากเดิม โดยเฉพาะบริเวณตำบลกระทุ่ม ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา และตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะมีปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากเดิม 50 เซนติเมตร ถึง 1 เมตร แต่ยังไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่บริเวณตลิ่ง
ล่าสุดกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศ “พายุระดับ 1 (หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง) บริเวณภาคใต้ตอนบน” ฉบับสุดท้าย โดยหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่ปกคลุมบริเวณภาคใต้ตอนบน กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกตามแนวร่องมรสุม และจะเคลื่อนตัวลงสู่ทะเลอันดามันในคืนนี้ ลักษณะเช่นนี้ยังคงทำให้มีฝนตกหนักบางแห่งกับมีลมแรง บริเวณภาคอีสานตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ โดยมีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากฝนตกหนัก ประกอบด้วย
ภาคอีสาน : นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี
ภาคกลาง : ราชบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา นครปฐม สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม
ภาคตะวันออก : จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้ : จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง พังงา กระบี่ สตูล และภูเก็ต.-สำนักข่าวไทย