ทำเนียบ 27 ต.ค.-นายกฯ เสนออาเซียน-ออสเตรเลีย ร่วมมือ แลกเปลี่ยนวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด-19 เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ เปิดพรมแดนระหว่างกันส่งเสริมการท่องเที่ยว
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมและกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย ครั้งที่ 1 ผ่านระบบการประชุมทางไกล พร้อมผู้นำสมาชิกอาเซียน และนายสกอตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย
นายกรัฐมนตรีมอร์ริสัน กล่าวว่า เป็นประวัติศาสตร์การยกระดับความสัมพันธ์หุ้นส่วนรอบด้านออสเตรเลีย-อาเซียน ท่ามกลางสถานการณ์ที่มีความเปลี่ยนแปลงและท้าทายเป็นอย่างมากในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก พร้อมเน้นย้ำว่า ทุกประเทศต้องร่วมมือกันเพื่อฟื้นฟูด้านต่างๆ โดยเฉพาะการสร้างเสถียรภาพในภูมิภาค การสร้างความมั่นคงทางสาธารณสุข ผ่านการเข้าถึงวัคซีนที่ปลอดภัยอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง ออสเตรเลียได้เตรียมจัดสรรวัคซีนโควิด-19 จำนวน 10 ล้านโดสให้กับประเทศสมาชิกอาเซียนภายในปีหน้า รวมทั้งยินดีที่จะสนับสนุนเงินทุนจำนวน 124 ล้านเหรียญออสเตรเลีย เพื่อช่วยรับมือกับภัยพิบัติและความท้าทายในอนาคต
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าไทยและอาเซียนพร้อมแลกเปลี่ยนทัศนะ และขับเคลื่อนความสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์กับออสเตรเลีย พร้อมย้ำถึงความสำคัญของการดำเนินการต่าง ๆ ที่ต้องนำไปสู่ความร่วมมือที่สร้างสรรค์ เสริมสร้างความเป็นแกนกลางของอาเซียน โดยเฉพาะในช่วงเวลาแห่งความท้าทาย ทุกฝ่ายมุ่งหวังการเสริมสร้างต่อการฟื้นฟูในทุกมิติอย่างยั่งยืนหลังโควิด-19
นายกรัฐมนตรีเสนอแนวทางส่งเสริมความร่วมมือ 3 ด้าน ได้แก่ความร่วมมือด้านสาธารณสุข การเข้าถึงวัคซีนอย่างเป็นธรรม ทั่วถึง และรวดเร็ว โดยออสเตรเลียอาจพิจารณาสนับสนุนการดำเนินการตามแผนงาน อาทิ การแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการวิจัยและพัฒนาวัคซีน และการจัดทำฐานข้อมูลด้านวัคซีนในระดับภูมิภาค ความร่วมมือในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ การเจรจาเพื่อยกระดับ FTA อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ให้ตอบสนองต่อความต้องการของภาคเอกชน มีความทันสมัย และเกื้อกูลกับความตกลง RCEP โดยนายกฯ ได้เชิญออสเตรเลียให้ร่วมกันส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยเชื่อมั่นว่าจะเป็นแนวทางสำคัญที่นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เห็นว่าทั้งสองฝ่ายควรเพิ่มพูนความร่วมมือทางไซเบอร์ โดยใช้ประโยชน์จากข้อริเริ่มอาเซียน-ออสเตรเลียในการเป็นหุ้นส่วนด้านการเมือง และความมั่นคงในการสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนข่าวสารและพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในการเฝ้าระวัง ตรวจสอบ และประเมินภัยคุกคามทางไซเบอร์
ส่วนความร่วมมือในการฟื้นฟูความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน ควรพิจารณาความเป็นไปได้ในการเปิดพรมแดนระหว่างกัน โดยในเบื้องต้นสำหรับนักเรียนนักศึกษา หลังจากนั้นจึงเริ่มส่งเสริมการท่องเที่ยว ภายใต้มาตรการและเงื่อนไขที่เป็นที่ยอมรับร่วมกัน ตลอดจนควรส่งเสริมการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลในการแลกเปลี่ยนด้านศิลปะ วัฒนธรรม เพื่อให้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับประชาชนไม่ขาดตอน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หวังจะได้ให้การต้อนรับนายกรัฐมนตรีมอร์ริสันที่ประเทศไทย ในโอกาสที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพเอเปคปี 2565 ซึ่งจะตรงกับการครบรอบ 70 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับออสเตรเลียด้วย.-สำนักข่าวไทย