กรุงเทพฯ 19 ส.ค. – โฆษกบัวแก้ว แจงการตั้งคำของบประมาณประจำปี 2565 ของ ก.ต่างประเทศ เป็นไปตามความจำเป็น ประหยัด และเพื่อประโยชน์ทางราชการและของประชาชนไทย โดยคำนึงถึงผลกระทบของโควิด-19 ต่อประเทศ
นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงกรณีการตั้งคำของบประมาณประจำปี พ.ศ. 2565 ของกระทรวงการต่างประเทศ ตามที่ได้มีรายงานข่าวการตั้งข้อสังเกตว่า การจัดสรรงบฯ ของรัฐบาลให้กับหน่วยงานราชการต่างๆ รวมทั้งกระทรวงการต่างประเทศ ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ดังนี้
1. กระทรวงการต่างประเทศ คำนึงถึงผลกระทบของโควิด-19 ต่อประเทศ โดยได้ของบฯ ในรายการที่จำเป็นต่อการปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศ โดยเฉพาะการคุ้มครองและดูแลคนไทยในต่างประเทศ และคำนึงถึงความประหยัด คุ้มค่า เหมาะสม
2. การตั้งคำของบฯ รถยนต์ประจำตำแหน่งทั้ง 12 คัน เป็นการขอเพื่อทดแทนคันเดิม ซึ่งมีอายุเกินเกณฑ์ที่กำหนด ในปีงบประมาณ 2564 กระทรวงการต่างประเทศได้ชะลอการตั้งคำขอรายการนี้ทั้งหมด แต่ในปีงบประมาณ 2565 รถยนต์ดังกล่าวจะมีอายุถึง 10 ปี ซึ่งจะเสื่อมสภาพตามอายุ เสียค่าใช้จ่ายซ่อมแซมบำรุงรักษาสูงมาก เป็นภาระงบประมาณ ทั้งนี้ เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีที่ระบุว่า รถยนต์ประจำตำแหน่งที่มีอายุการใช้งานไม่น้อยกว่า 6 ปี ให้จัดหารถคันใหม่ทดแทนได้ นอกจากนี้ วงเงินเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งระบุขนาดเครื่องยนต์และราคาตามที่สำนักงบประมาณกำหนด
3. ส่วนการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารสถานที่ กระทรวงการต่างประเทศ มุ่งเน้นงานดูแลคุ้มครองคนไทย และรองรับการปฏิบัติภารกิจต่างๆ โดยกรณีการซ่อมแซมสนามเทนนิสของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด เป็นการปรับปรุงให้เป็นลานอเนกประสงค์ เพื่อจัดกิจกรรมชุมชนไทย และส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยติดตั้งหลังคาคลุม สามารถใช้พื้นที่แทนที่จะต้องเช่าสถานที่จัดกิจกรรม เช่น โรงแรม ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง ปัจจุบันลานดังกล่าวอยู่ในสภาพทรุดโทรมมาก
4. สำหรับงบจัดซื้อครุภัณฑ์ เช่น ตู้แช่ไวน์ของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมะนิลา และเครื่องอุ่นจานของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออสโล เป็นเครื่องใช้ในภารกิจจัดเลี้ยงรับรองทางราชการ โดยของเดิมใช้งานมานานกว่า 20 ปี (ตู้แช่ไวน์ จัดซื้อปี 2546 เครื่องอุ่นจาน จัดซื้อปี 2538) ทั้งนี้ ราคาค่าครุภัณฑ์และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องมีวงเงินแตกต่างตามค่าครองชีพและราคามาตรฐานของประเทศนั้นๆ ซึ่งในยุโรปจะมีราคาสูง อย่างไรก็ตาม กระทรวงการต่างประเทศได้กำชับให้สถานเอกอัครราชทูตที่เกี่ยวข้องพิจารณาใช้งบฯ เท่าที่จำเป็น และคำนึงถึงหลักประหยัดเป็นสำคัญมาโดยตลอด. – สำนักข่าวไทย