รัฐสภา 20 ก.พ.- “สุพัฒนพงษ์” ย้ำเศรษฐกิจไทยยังมีเสถียรภาพ ผ่านจุดต่ำสุดในเดือนเมษายน 2563 มาแล้ว พร้อมมั่นใจ 3-5 ปีจากนี้ จะได้เห็นโครงการใหม่สำเร็จแน่นอน
เมื่อวันที่ 19 ก.พ.ที่ผ่านมา นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ชี้แจงถึงกรณีตัวชี้วัดเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ว่าจากวิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบเศรษฐกิจทุกประเทศ ถือเป็นปีที่ย่ำแย่ของทุกประเทศ ซึ่งจุดต่ำสุดของไทยคือ เดือนเมษายน 2563 และดัชนีทุกตัวดีขึ้นตามลำดับ จนเกิดการระบาดระลอกใหม่ในเดือนธันวาคม ดัชนีก็ไม่ได้ตกต่ำเท่าเดือนเมษายน เพราะมีประสบการณ์ในการควบคุมการระบาด แม้ตัวเลขเศรษฐกิจดร็อปลง แต่ก็ยังมีสัญญาณบวก ได้ปรากฎอยู่ในไตรมาสที่ 4 โดยเฉพาะการส่งออก ส่วนในปี 2564 จากข้อมูลของสภาพัฒนาเศรษฐกิจฯ เราติดลบ 6.1 แม้ว่าหลายสถาบันเห็นว่าประเทศไทยน่าจะติดลบกว่า 10% แต่เราควบคุมได้ ถือว่าบอบช้ำไม่มาก เทียบกับอาเซียน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ดังนั้นภาพรวมไทยปี 2563 ประเทศไทยไม่ได้แย่ที่สุด
ส่วนตัวเลขอัตราการว่างงานของไทย 10 ล้านคน ซึ่งอาจเป็นประมาณการตั้งแต่ช่วงแรกๆ เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 แต่ตัวเลขจริงจริงที่เกิดขึ้นเพียงแค่ 1.9% ขณะที่ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนสูงกว่าประเทศไทยมาก สะท้อนความบอบช้ำทั่วโลก ซึ่งไทยเราถือว่าทำได้ดีกว่าที่คาดไว้
ส่วนอัตราความน่าเชื่อถือทางการเงินยิ่งดีใหญ่ จากการประเมินผลจากการจัดลำดับต่างๆ ของสถาบันนานาชาติ ขณะที่หลายประเทศถูกลดระดับ และสิ่งที่ดีที่ทำให้เชื่อมั่นได้ว่าการบริหารจัดการของประเทศไทยที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ การควบคุมโควิด-19 ปรากฎการยอมรับจากนานาชาติ เราติดอันดับ 1 ใน 4 การควบคุมการระบาดโควิดดีที่สุดของโลก และติดอันดับประเทศเกิดใหม่ที่น่าลงทุน ซึ่งเป็นการจัดลำดับในเดือนธันวาคมและเดือนมกราคมที่ผ่านมา
“อาจจะมีคนพูดว่าโควิด-19 มาช่วยรัฐบาล ซึ่งมีแนวโน้มจะลงตั้งแต่ปี 2562 มันคงเป็นเรื่องช่วยไม่ได้ถ้าเราบริหารจัดการไม่ดี นี่คือมหาวิกฤติ ถ้าเราบริหารได้ดีมันคือคุณ มันคือประโยชน์ที่จะช่วยรัฐบาล นี่คือสิ่งที่ปรากฏและถูกยอมรับในสถาบันนานาชาติ” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว
สำหรับสถานการณ์การกู้เงินก็ไม่ใช่แต่ประเทศไทยเท่านั้น แต่หลายประเทศในอาเซียนก็ใช้วิธีการกู้ ทั้งนี้ก็ต้องไปพิจารณาถึงตัวเลขหนี้สาธารณะประกอบด้วย โดยการเทียบกับรัฐบาลอื่นๆ ไม่ได้เกินเลยกว่ารัฐบาลก่อนหน้า และการกระจายเงินกู้ของรัฐบาลยังเน้นไปที่โครงสร้างพื้นฐาน 162 โครงการ ส่วนกรณีข้อกล่าวหาหนี้ครัวเรือนสูงสุดนั้น หากย้อนหลังไปเป็น 10 ปี เพิ่มขึ้นมาตลอด และรัฐบาลนี้พยายามประคับประคองรักษาตัวเลขหนี้ครัวเรือนไม่ให้สูงแม้บางปีจะต่ำ เนื่องจากจีดีพีลดลง และพบว่าเป็นหนี้เพื่อที่อยู่อาศัย ยานพาหนะ จัดอยู่ในหนี้ครัวเรือนเชิงคุณภาพ พร้อมย้ำในความเข้มแข็งของสถาบันการเงิน
“วันที่พล.อ.ประยุทธ์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หนี้มีอยู่ 5.5 เพิ่มขึ้นมา 2.6 ดูมาก แต่เมื่อเทียบรัฐบาลก่อนหน้านั้นเขาก็เพิ่ม 1.3 ล้านล้าน แต่ 1.3 ล้านล้านอยู่ 2 ปี 8 เดือน ซึ่ง 2.6 ล้านล้าน อยู่ 6 ปี 9 เดือน ถ้าถามว่ากู้ต่อเดือนก็ไม่ได้ต่างกัน แถมรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์กู้น้อยกว่าด้วยซ้ำไป” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว
นายสุพัฒนพงษ์ ยังระบุว่าประเทศไทยกำลังผ่านวิกฤตโควิด-19 และเดินหน้าโครงการใหม่ๆในช่วง 3-5 ปีนี้ จึงขอให้ทุกฝ่ายคลายกังวล ส่วนปัญหาความเหลื่อมล้ำต้องมองหลายมิติ ซึ่งเทียบกับอาเซียนไทยเป็นประเทศเหลื่อมล้ำน้อย และความยากจนน้อยมาก ดังนั้นขอให้เข้าใจว่ารัฐบาลตั้งใจสร้างเสถียรภาพ และแก้ปัญหาฝ่าวิกฤติครั้งนี้ นานาชาติชื่นชมและจะทำต่อไป.-สำนักข่าวไทย